อียูพร้อมช่วยไทยรับมือภาวะโลกรวน เปิดเวทีติวเข้มเอกชนไทยปรับตัวรับกติกาค้าโลกใหม่ สรรพสามิตจ่อชงรัฐบาล “เศรษฐา” เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน “พาณิชย์” ดัน BCG Model เป็นทางออกผู้ประกอบการสู้ศึกค้าโลก

ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป จัดงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางสาวซารา เรโซอาลญิ อุปทูตรักษาการคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า สหภาพยุโรปหรืออียู และไทย ต่างมีความมุ่งหมายร่วมกัน มุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์โดยทางอียูตั้งเป้าไว้ที่ปี ค.ศ. 2050

อย่างไรก็ตามประชาคมโลกมีความก้าวหน้า ในการรับมือกับภัยคุกคามสภาพอากาศ จากการที่มีการทำข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสโดยพยายามให้เพิ่มขึ้นที่ระดับเพียง1.5 องศาเซลเซียส ให้ได้ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่นานาประเทศในโลกต้องทำให้คำมั่นสัญญากลายเป็นการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

  • เสนอ 3 ข้อพันธกิจใน COP28

ก้าวต่อไปที่สำคัญของความพยายามระดับโลกในการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศคือการประชุม COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.ถึง 12 ธ.ค. 2566 ซึ่งอียูจะเดินหน้าสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับ “พันธกิจการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก” (Global Energy Transition Pledge) ซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวโยงกัน นั่นคือ

  1.  เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉลี่ย 3 เท่าระหว่างปีนี้และปี 2030
  2.  เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอัตราเฉลี่ยรายปีในช่วงทศวรรษนี้เป็นสองเท่า
  3.  ทยอยยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเชิงก่อนปีค.ศ. 2050
รับมือกติกาโลกใหม่ อียูจับมือไทยแก้ “โลกรวน” สรรพสามิตชงเก็บภาษีคาร์บอน

ทั้งนี้ อียูมีนโยบายที่เรียกว่า European Green Deal ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของข้อตกลงปารีสถือเป็นพันธกิจที่มีความผูกพันตามกฎหมาย เกิดจากกฎหมายสภาพอากาศยุโรป หรือ European Climate Law ประกอบด้วยแผนดำเนินการต่าง ๆ 50 มาตรการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2021 ภายใต้กฎหมายดังกล่าว มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 55% (เมื่อเทียบกับปี 1990) ภายในปี 2030 และพร้อม ๆ กับกฎหมายดังกล่าว มีการนำเสนอแพ็คเกจที่เรียกว่า Fit for 55 ที่มีความริเริ่มต่าง ๆ มากมายที่จะชักจูงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

อุปทูตอียูอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ นโยบายของอียูจะสร้างกลยุทธ์การเติบโตใหม่ ๆ ควบคู่กันไป มีแผนการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานสะอาด (green transition)ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วยวิธีการต่างๆ

ความสำเร็จของ EU Emission Trading Scheme (ETS) ซึ่งเป็นระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่งและทำให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการลดปล่อยก๊าซโลกร้อนนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้กลไกที่คุ้มค่ากับการลงทุน

  • เร่งหารือลดผลกระทบ

อีกทั้ง เดินหน้าต่อยอดกลไกนี้ให้เติบโตต่อไป ด้วยการขยายขอบเขตครอบคลุมธุรกิจใหม่ อาทิ การขนส่งทางเรือ และด้วยการให้ความสำคัญกับธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุด ขณะเดียวกันอียูก็ได้นำมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM มาใช้ หรือที่เรียกว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนกำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เป้าหมายเพื่อบริหารจัดการการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสินค้าในประเทศที่สามที่ส่งออกมายังตลาดในอียูด้วยการสร้างความเท่าเทียมต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในอียูที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอกอียูผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของอียูลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง CBAM ในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยสามารถปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับกฎเกณฑ์ใหม่ของอียู เช่นเรียนรู้วิธีการคำนวณ และการแจ้งสำแดงรายละเอียด ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้จะเป็นการเริ่มต้นช่วงแห่งการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึงสิ้นปี 2568

“ปัจจุบันถือว่าสินค้าที่อยู่ในกลุ่มที่ครอบคลุมโดยกฎเกณฑ์ CBAM อาทิ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เป็นสินค้าที่ไทยไม่ได้มีการส่งออกไปยังอียูมากนัก ดังนั้นผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการบังคับใช้ CBAM จึงถือว่าน้อยมาก”

  • สรรพสามิตชงเก็บภาษีคาร์บอน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ประเทศไทยประกาศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนจะเป็นศูนย์ หรือ NET ZERO ในปี 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยลงนามพันธสัญญาระหว่างประเทศไว้ อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่เป้าหมายจะต้องมีเครื่องมือ โดยโอกาสและความท้าทายของธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวด้วย เพราะธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวเข้าสู่ NET ZERO แม้ไม่ปรับตัว โลก และกติกาโลกก็จะบีบบังคับให้ปรับตัวเช่นเดียวกัน

ในยุโรปเห็นได้ชัด มีการบังคับธุรกิจ มีการกำหนดปริมาณคาร์บอนของแต่ละธุรกิจที่จะสามารถปล่อยออกมาได้ หากทำไม่ได้ ต้องไปหาซื้อคาร์บอนในตลาด หรือ Emission Trading Scheme (ETS) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์ และหากใครปล่อยคาร์บอนตํ่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถนำคาร์บอนไปขายได้

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการระบุเลยว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนเท่าใด ขณะนี้ในยุโรปใช้ไปแล้ว ส่วนในอาเซียน มีประเทศสิงคโปร์ที่มีผลบังคับใช้ มีการกำหนดว่า 1 ตันคาร์บอน จะเก็บภาษี 5-10 เหรียญสิงคโปร์ และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรม ฉะนั้น ราคาหรือภาษีจึงถูกกำหนดโดยรัฐบาล

ทั้งนี้ ในหลักการของยุโรปนั้น เมื่อบังคับใช้ข้อจำกัดการปล่อยคาร์บอนกับคนในประเทศแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ และส่งสินค้าเข้ามาที่ยุโรป จึงได้ออกเกณฑ์การเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ไฟฟ้า ปุ๋ย ซีเมนต์ อลูมิเนียม เหล็ก ไฮโดรเจน และเหล็กที่มาจากต้นนํ้าและปลายนํ้า พร้อมกันนี้สหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะทำกฎหมายในลักษณะเดียวกัน ผู้ที่ส่งสินค้าไปอเมริกาก็จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน ฉะนั้น ธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

“สินค้าที่ยุโรปเริ่มเก็บ 7 ประเภทแรก ธุรกิจไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบเยอะ แต่ในอนาคตจะมีการขยายรายการสินค้าออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์โลก”

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า การรับมือดังกล่าว กรมสรรพสามิตก็ได้ปรับบทบาทตัวเอง ไม่ใช่กรมที่เก็บภาษีเฉพาะเหล้า บุหรี่ แต่จะมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาธิบาล อะไรที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางกรมจะลดภาษีให้ ส่วนอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะเก็บภาษีมากขึ้น

ยกตัวอย่าง รถยนต์ที่ใช้ ในประเทศไทย ปล่อยคาร์บอน 400 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันการปล่อยก๊าซคาร์บอนสัดส่วน 70% มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ภาษีสรรพสามิตเก็บทั้งขนส่งและพลังงาน แต่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษี เพื่อให้เชื่อมโยงกับคาร์บอน ขณะนี้เราเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย จากสมัยก่อนเก็บภาษีรถยนต์ตามขนาดกระบอกสูบ ซึ่งกรมได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม

  • คิดภาษีพลังงานตามการปล่อย CO2

นอกจากนี้ สิ่งที่กรมสรรพสามิตจะทำต่อมา คือ พลังงาน โดยทุกวันนี้ยังเป็นดีเซล ไบโอดีเซล และอื่น ๆ อยู่ ซึ่งใครที่ใส่ไบโอ เอทานอลเข้าไป จะลดภาษีให้ แต่อนาคตจะคิดภาษีพลังงานตามอัตราการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกรมได้เตรียมนำเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา จะทำรูปแบบเช่นเดียวกันกับรถยนต์ ซึ่งเปลี่ยนจากกระบอกสูบ ไปผูกกับการปล่อยคาร์บอน

ทั้งนี้ เพื่อรองรับหากยุโรปและอเมริกาเริ่มเก็บภาษีที่พรมแดนเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้กรมกำลังคุยกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำโครงสร้างภาษีที่ต่างประเทศยอมให้มีการหักลดหย่อนได้ หากส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา เป็นต้น

“ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราจะโดนเก็บภาษีเมื่อส่งออกไปยังยุโรป หรืออเมริกาอยู่ดี ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่กติกาโลกจะบีบบังคับให้เราทำ ดังนั้นในภาคธุรกิจสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม วันนี้ไม่ใช่แค่โอกาส และความท้าทาย เราต้องเตรียมพร้อมปรับตัว ธุรกิจเองก็ต้องเริ่มมีการวัดการปล่อยคาร์บอน เพราะท้ายที่สุดอีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องใช้มาตรฐานของยุโรปเท่านั้น”

  • พาณิชย์ หนุนขับเคลื่อน BCG

นายพรวิช  ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกในบริบทของ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ถือเป็นความท้าทายดังนั้นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก BCG Eco nomic Model จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของไทย

ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักของการส่งออกสินค้าไทย สัดส่วนเกือบ 60% ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวันซึ่งเป็นท็อปเท็นของตลาดส่งออกสินค้าไทย มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดถึงเข้มงวดที่สุด รวมถึงทั่วโลกมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และจะมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในเร็ววัน ทั้งนี้เพื่อส่งผ่าน Sustainability หรือความยั่งยืน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่ประชาชนของตน

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความท้าทาย และมีนัยสำคัญต่อการส่งออกของไทย และมีนัยสำคัญต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยแน่นอน ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยหากมีการปรับตัวในการผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

 “สิ่งที่เราทำแล้วและเราก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นโอกาส เราเห็นตัวอย่างที่ดี ๆ มากมายและได้เห็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยและของสังคมไทยโดยรวมมากมาย เราเปลี่ยนโลกได้ถ้าเรามองโลกเป็นโอกาส ไม่ว่ามาตรการของประเทศคู่ค้าจะออกมาในรูปแบบของมาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็น CBAM หรือเป็นมาตรการที่สมัครใจก็ตาม ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองของเราได้ นี่คือโอกาสโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบหลาย ๆ อย่าง”

นายพรวิช กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เห็นถึงโอกาสดังกล่าว ที่มาควบคู่กับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเทรนด์เรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืนที่เป็นเชิงบังคับของกระแสโลก ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ปรับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจโดยใช้ BCG Economy Model มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสที่ในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ และขยายตลาดส่งออกไปในตลาดสำคัญ ๆ ที่เป็นตลาดหลัก ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอื่น ๆ ที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมหาศาล

รวมทั้งในช่วงต่อไปจะผลักไปอีกระดับหนึ่งเพื่อให้สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ มีความตระหนักถึงการต้องยกระดับไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าแต่ละบริษัทปล่อยคาร์บอนไปเท่าไรในการผลิตของเขา รวมถึงรับมือกับภาษีคาร์บอนของประเทศคู่ค้าที่จะมีความเข้มงวดขึ้น และครอบคลุมกับสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นนอกเหนือจากสินค้าอุตสาหกรรม

สรุปทางกรมฯจะเน้นใน 3 เรื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้แก่ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เรื่อง BCG และเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงสินค้าอาหารอนาคต(Future Food) ที่เป็นเนื้อเทียม มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนตํ่าเมื่อเทียบกับสินค้าเนื้อสัตว์ ถือเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่กำลังมาแรง ซึ่งจะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ใช้โอกาสนี้ในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Source : ฐานเศรษฐกิจ

จะไม่เรียกว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยดิจิทัลได้อย่างไร เมื่อชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) ประกาศจัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ที่ประเทศไทยเป็นปีแรกเมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2566 นัยสำคัญของเรื่องนี้คือชไนเดอร์ฯ ไม่ได้จัดงานประชุมระดับโลกในทุกประเทศ และเหตุผลที่ไทยถูกเลือกเป็นสถานที่จัดงานแสดงนวัตกรรมครั้งนี้คือความพร้อมที่เหนือกว่าทุกประเทศในภูมิภาคซึ่งทำให้ชไนเดอร์ฯ ต้องการส่งสัญญาณแบบดังๆ ว่า ไทยควรเริ่มภารกิจลดคาร์บอนฯ อย่างจริงจังได้แล้วตั้งแต่นาทีนี้

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเมินการจัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามท่ามกลางผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยผู้ใช้เอนด์ยูสเซอร์ ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจในองค์กร รวมถึงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศที่มารวมตัวกันในงาน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าชไนเดอร์ฯ ไม่สามารถทำภารกิจลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้ด้วยตัวคนเดียว แต่จะต้องไปพร้อมกันทั้งระบบ

‘งานนี้คืออินโนเวชันซัมมิต ไม่ได้จัดในทุกประเทศ แต่นี่คือครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย ทุกสาขาอาชีพมาร่วมกันในงานนี้เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ วัตถุประสงค์ที่ทำให้ทุกคนมารวมกันคือเพื่อร่วมแรงให้โลกใบนี้ดีขึ้น ชไนเดอร์ฯ ทำคนเดียวไม่ได้ งานนี้จะเน้นสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รู้ว่าทุกคนเป็นหนึ่งในแรงที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้’

ชไนเดอร์ฯ ย้ำว่าการลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้นเพราะการนำเอาระบบดิจิทัลมาผสมกับระบบจัดการไฟฟ้า จะไม่เพียงทำให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ระบบดิจิทัลยังทำให้สามารถวัดผลได้เป็นตัวเลข เพื่อแสดงข้อมูลว่าองค์กรมีการใช้พลังงานเท่าใด นำไปสู่การจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการใช้คาร์บอนฯ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ภาพฝันเรื่องการลดคาร์บอนฯ สูงสุดในกระบวนการจัดการพลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคที่ทุกอย่างเป็นระบบออนไลน์และดิจิทัล ภาวะที่เศรษฐกิจดิจิทัลแทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่ทำให้การใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวนับจากนี้ ข้อมูลจากชไนเดอร์ฯ พบว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า 

กระทุ้งไทยต้องเริ่มตอนนี้!

เมื่อถามถึงนัยสำคัญในเชิงกรอบเวลาว่าทำไมปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ขึ้นที่กรุงเทพฯ สเตฟานตอบว่าไม่เพียงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและตลาดที่เหนือกว่าทุกประเทศในภูมิภาคของไทย แต่การจัดงานนี้ตอกย้ำให้องค์กรไทยไม่ลืมว่าจะต้องเริ่มนำดิจิทัลมาใช้จัดการพลังงานอย่างจริงจังตั้งแต่ปีนี้ เพื่อให้เจตจำนงเรื่อง Net Zero ของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริงตามแผนที่ประกาศไว้

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค

เจตจำนงเรื่อง Net Zero ของไทยถูกประกาศอย่างเป็นทางการบนเวทีการประชุม COP 26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 นั้นจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน 2564 บนเวทีนี้ COP 26 ประเทศไทยแสดงเจตจำนงที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับประชาคมโลกอย่างจริงจังโดยกำหนดเป้าหมายหลักว่าประเทศไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ให้ได้ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065)

แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40% 2.การผลักดันการใช้พลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม อันเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3.การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งภาคเศรษฐกิจมีการปรับตัวโดยดำเนินการโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับที่กลุ่มอุตสาหกรรมในไทยต้องตื่นตัวอย่างมากตามมาตรการปรับราคาคาร์บอนฯ ก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ตรงนี้หากสินค้าไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นทางสูง อาจทำให้ต้องเสียภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) มากขึ้น เนื่องจากเป็นเหมือนการนำเข้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ประเทศปลายทาง

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค พยายามย้ำมานานแล้วว่าการนำดิจิทัลมาใช้จัดการพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยไม่เพียงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังเป็นการเปิดประตูเพื่อให้ตลาดพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy สามารถมีบทบาทในประเทศไทยได้มากกว่าปัจจุบันที่อยู่ในขั้นนำร่องเท่านั้น เป้าหมายของการจัดงานครั้งล่าสุดจึงเป็นการโชว์กรณีศึกษา และแนวคิดจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศกว่า 40 องค์กร ที่จะมาร่วมแชร์กลยุทธ์ในเส้นทางไปสู่ความยั่งยืน

ทำไมชไนเดอร์ อิเล็คทริคจึงสามารถเสนอตัวเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ได้ คำตอบคือดีกรีของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่เป็นบริษัทซึ่งทำยอดขายไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ และราว 5% ถูกจัดเป็นงบสำหรับวิจัยและพัฒนา ปัจจุบัน 74% ของรายได้ชไนเดอร์ อิเล็คทริคมาจากกรีนโซลูชัน โดยในช่วง 5 ปี กรีนโซลูชันของบริษัททำให้เกิดการลดคาร์บอนฯ 458 ล้านตัน เทียบเท่ากับคาร์บอนฯ ที่ไทยปล่อยออกมาตลอดทั้งปี

‘แปลว่าคาร์บอนฯ ที่เรากำจัดได้นั้นเหมือนการกำจัดคาร์บอนฯ ที่เมืองไทยผลิตได้ตลอด 1 ปี’ สเตฟานกล่าว ‘ไทยต้องเริ่มตอนนี้ เพราะประเทศไทยมุ่งมั่นจะลดคาร์บอนฯ 30% ซึ่งก่อนจะมีงานนี้เกิดขึ้น เรามีการสำรวจกับลูกค้า ผลพบว่า 64% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่าบริษัทของตัวเองกำลังทำเรื่องความยั่งยืน ขณะที่ 62% บอกว่ามีเป้าหมายและมีแผนงานทำเรื่องลดคาร์บอนฯ ที่ชัดเจน ขณะที่ 99% เห็นด้วยเรื่องการทำดิจิทัลจะเป็นตัวหลักที่ทำให้เกิดความยั่งยืน’

การลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

การลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

ชไนเดอร์ฯ การันตีว่าเทคโนโลยีลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัลนั้นพร้อมใช้งานแล้วโดยไม่ต้องรอ รองรับตั้งแต่ฝั่งการผลิต ฝั่งการใช้งาน และทุกส่วนที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ เบื้องต้น คาดว่าลูกค้าจะมีการใช้พลังงานดีขึ้นและประหยัดพลังงานได้กว่า 15-30% ซึ่งเป็นการลดลงที่เกิดขึ้นได้เพราะโซลูชัน

งานมอนิเตอร์ต้องมา

7 โซลูชันเด่นที่ถูกยกทัพมาโชว์ในงานนี้ประกอบด้วย

  1. เทคโนโลยี RM AirSeT และ SM AirSeT ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์อัจฉริยะแบบฝังตัวช่วยให้สามารถมอนิเตอร์ข้อมูลและมีประสิทธิภาพในการควบคุมรวมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน การจ่ายไฟฟ้าและจะช่วยให้สามารถบำรุงรักษาเชิงป้องกันและคาดการณ์การซ่อมบำรุงได้
  2. เทคโนโลยี Wiser โฮมออโตเมชัน ที่ช่วยเปลี่ยนบ้านธรรมดาให้เป็นบ้านอัจฉริยะ พร้อมความสามารถในการควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน หรือทำให้เป็นอัตโนมัติก็ได้
  3. โซลูชันอาคารยุค 4.0 ช่วยบริหารจัดการอาคาร โรงแรม และองค์กรด้านเฮลธ์แคร์ที่ต้องการประหยัดพลังงานและเพิ่มประสบการณ์ที่ดี
  4. โซลูชันไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยั่งยืน APC Micro Data Center R-Series ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้กลุ่มโกดังโรงงาน ไซต์งาน อุตสาหกรรมน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมเหมือง ไม่ต้องติดตั้งท่อน้ำยาแอร์ มีโครงสร้างแข็งแกร่งปิดสนิทอย่างแนบแน่น ป้องกันฝุ่น และความชื้น ใช้งานได้แม้ในพื้นที่ที่มีความร้อนสูง ผสานระบบรักษาความปลอดภัยชั้นยอด
  5. โซลูชันเพื่อปลดล็อคศักยภาพด้านพลังงาน และระบบออโตเมชัน ที่มุ่งแก้ปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และ
  6. Electrical Digital Twin Service (EDTS) บริการยกระดับผังวงจรของระบบไฟฟ้าทั้งโรงงาน อาคาร หรือไซต์งาน ให้เป็นดิจิทัล เป็นการทำครั้งเดียวที่ใช้ได้ตลอด ช่วยให้ง่ายในการดูแล และอัปเดตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย แถมยังลดค่าใช้จ่ายในการสร้างแบบจำลองที่มีราคาแพง ประหยัดเวลาในการรวบรวมข้อมูลใหม่ที่ใช้เวลานาน
  7. อุปกรณ์และระบบสำหรับเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าสำหรับอาคารและสถานีชาร์จ ได้แก่ EVlink Pro AC แบบใช้ไฟฟ้า 3 เฟส ให้พลังในการชาร์จ 7.4 kW, 11 kW, 22 kW และ EVlink Pro DC โฟกัสการทำสถานีเป็นหลัก ตัวเครื่องทนทานใช้งานในสถานที่เปิดได้อย่างดี สามารถรองรับการชาร์จได้รวดเร็ว ตั้งแต่ 120-180 kW สามารถใช้งานพร้อมกันได้ถึง 2 หัวจ่ายต่อเครื่อง มาพร้อมโซลูชัน EV Charging expert ช่วยในเรื่องการบริหารจัดการโหลดพลังงานทั้งหมดให้เพียงพอในการชาร์จ และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานพลังงานในส่วนอื่น เช่น อาคาร หรืออุปกรณ์ชาร์จตัวอื่นๆ และ EV Advisor ช่วยในการมอนิเตอร์สถานะของเครื่องชาร์จทั้งหมด

‘ทุกเทคโนโลยีมีความต้องการสูงในประเทศไทย แต่ที่เด่นมากนั้นมี 3 เทคโนโลยี คือ 1.สเตชันชาร์จรถไฟฟ้าที่จะใช้เวลารวดเร็ว 30 นาที 2.ซอฟต์แวร์ใหม่ที่องค์กรจะตรวจดูได้แบบเรียลไทม์ว่าหน่วยงานมีการปล่อยคาร์บอนฯ เท่าใด เพื่อให้สามารถตรวจจับและรู้ตัวเลขคาร์บอนฯ ที่แม่นยำ และ 3.ตู้สวิตช์เกียร์รุ่นใหม่ที่ไม่ใช้ก๊าซ SF6 แต่ใช้อากาศบริสุทธิ์แทน’

อิมแพกต์ที่จะเกิดหากประเทศไทยมีการใช้ 3 เทคโนโลยีนี้อย่างแพร่หลายคือการมีทิศทางที่ชัดเจน สเตฟานอธิบายว่าเมื่อบริษัทรู้ว่าตัวเองปล่อยคาร์บอนฯ เท่าใด จะทำให้เกิดการตรวจและวิเคราะห์ระบบภายในอย่างจริงจังจึงจะได้รู้ว่าควรจะทำอะไรต่อ ทำให้สิ่งไม่เคยเห็นมาก่อนสามารถได้เห็นชัดขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ถูกจุด

ทั้งหมดนี้จะตอบความคาดหวัง 2 ด้านของชไนเดอร์ฯ คือการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น จะสร้างความยั่งยืนมากขึ้นให้องค์กรไทย และจะลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุน เพิ่มกำไรมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก และด้านที่ 2 คือการทำให้องค์กรเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้นทำใ้ห้เกิดผลดี เกิดการผลิตมากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีการนำ AI เข้ามาเพิ่มความเสถียร ช่วยแจ้งเตือนว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง เป็นการวิเคราะห์ล่วงหน้าที่ไม่ต้องรอว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ทำให้ลดการเสียหายจากการแก้ปัญหาไม่ทัน

ยุคทองของไทยต่อการ ‘ลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัล’ จึงกำลังเกิดขึ้นในปีนี้

Source : MGRonline

อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละราว ๆ 0.6-0.9 องศาเซลเซียสและถ้าหากลองสังเกตช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราเองเผชิญกับอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงฝุ่นละอองในอากาศที่มหาศาล จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 

ปรากฎการณ์นี้กำลังเตือนว่าสุขภาพโลกใบนี้กำลังอ่อนแอลงจนทำให้เกิด เมกะเทรนด์ ในโลกธุรกิจนั้นคือ Net Zero Emissionที่บริษัทระดับโลกมากมายต่างมีเป้าหมายดำเนินธุรกิจ ไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

บริษัทที่จริงจังกับเรื่องนี้ครบทุกมิติ เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยก็คือ Central Group โดยมีการดำเนินการผ่าน 3 บริษัทใหญ่ในเครือ 

1. บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) : ผู้นำธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CRC โดยที่ผ่านมาบริษัทมีโครงการต่าง ๆ มากมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

อย่างที่โดดเด่นก็คือโครงการ Say No to Plastic Bags โดยเป็นค้าปลีกแห่งแรกที่งดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2019, การใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV Truck) ขนส่งสินค้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, โครงการ Samui Zero Waste Model ที่ลดขยะอินทรีย์ 41.7 ตัน ผ่านการแปรรูปด้วยเครื่องหมักย่อยสลายทางชีวภาพเป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ

2. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) : ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และโครงการที่พักอาศัยรายใหญ่ของประเทศไทยหรือ CPN ก็จริงจังกับเรื่องนี้มานานก่อนที่จะเกิดกระแส Net Zero 

โดยมีการติดตั้ง สถานีคัดแยกขยะ ในศูนย์การค้าเป็นแห่งแรก และมีการผลักดันให้คัดแยกได้กว่า 20,000 ตัน/ ปี, ผลิตพลังงานสะอาดด้วยตนเองกว่า 28 ล้านยูนิต/ ปี, ติดตั้ง EV Charger Station มากที่สุดในกลุ่มศูนย์การค้า รวมกว่า 495 ช่องจอด และมีการรีไซเคิลน้ำได้มากกว่า 500 ล้านลิตร/ ปี

CPN ยังร่วมกับพันธมิตรมากมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตัวเอง ทั้งเทศบาล เกษตรกร และโครงการ ไม่เทรวม ของกทม. โดยเมื่อปีที่ผ่านมาลดการนำขยะอินทรีย์ไปฝังกลบ ได้ 6,000 ตัน จนถึงรวบรวมขยะรีไซเคิล พร้อมแปลงเป็น “เชื้อเพลิงขยะ” ได้ 18,182 ตัน

3.บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) : ผู้นำธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมร้านอาหารในประเทศไทย หรือ CENTEL ก็มีการขับเคลื่อนเรื่องนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น เช่น

สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของแขกเรื่องการจัดการขยะด้วยถังขยะรูปปลา “POP Fish” ที่ ย่อมาจาก “Plastic Only Please” เพื่อลดขยะในทะเลและรีไซเคิลขยะพลาสติก, โครงการ Food Surplus Donation ที่จัดการและส่งต่ออาหารส่วนเกินจากโรงแรมที่ยังมีสภาพดีให้กับผู้ที่ต้องการ โดยส่งต่อไปแล้วกว่า 312,782 มื้อ,Going Greener Programme รณรงค์ให้แขกมีส่วนร่วมในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้ผ้าปูที่นอนและผ้าเช็ดตัวซ้ำระหว่างเข้าพัก โดยลดการใช้น้ำได้เฉลี่ย 8 ลิตร /ห้องพัก

ส่วนภารกิจที่ทาง Central Group จะ Move on ต่อไปข้างหน้าพร้อมกับวาง Timeline อย่างชัดเจน

– ภายในปี 2024 ติดตั้ง Solar Rooftop ให้ครบ 100% ของศูนย์การค้าในเครือ
– ภายในปี 2030 ใช้ Eco-friendly Packaging 100% ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และโรงแรม
– ภายในปี 2030 ปลูกป่า 50,000 ไร่ 
– ภายในปี 2030 ลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบ ให้ได้สูงสุดร้อยละ 50 ของปริมาณขยะทั้งหมด

ภารกิจทั้งหมดที่ถูกตั้งเป้าหมายไว้ และต้องทำให้สำเร็จก็เพื่อเป้าหมายเดียว คือสร้าง Central Group ให้เป็นอาณาจักร Net Zero ภายในปี 2050

Source : https://www.marketthink.co/43237

“กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ “บีไอจี” ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) จัดเวทีสัมมนา Climate Tech Forum : Infinite Innovation…Connecting Business to Net Zero เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2566

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษหัวข้อ “นวัตกรรมเปลี่ยนกรุง” ว่า  การนำเอาเทคโนโลยีนำทางคงยากเพราะคนกรุงเทพฯ มีกว่า 10 ล้านคน แต่หานำนวัตกรรมมาใช้ก็ทำได้ เพราะนวัตกรรมเป็นไอเดีย แต่ต้องปรับความคิดให้มีมูลค่าหรือเปลี่ยนให้เป็น Value ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาก เพียงแค่ขอให้ปรับชีวิตคน และเพิ่มคุณค่าให้กับคนในเมืองได้ อย่าไปยึดติดกับอินโนเวชัน ที่เป็นเทคโนโลยี

รวมทั้งที่ผ่านมาพบว่ามีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ไม่ได้มาจากอินโนเวชัน และหากพูดถึงความยั่งยืน คือ การไม่เบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ปัจจุบัน

“อย่าไปตอบสนองความต้องการในปัจจุบันโดยใช้ทรัพยากรในอนาคตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาแล้ว เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ”

'ชัชชาติ' ชี้ นวัตกรรมเปลี่ยน กทม. สู่ Net Zero

สำหรับสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพฯ มาจาก  3 ส่วน คือ

1.การใช้พลังงาน  คิดเป็น 58.9%

2.การขนส่ง คิดเป็น 28.9%

3.น้ำเสียและมูลฝอย คิดเป็น 12.3%  

ทั้งนี้ เป้าหมายของ กทม.ที่วางไว้คือ ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าให้การปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero)ให้ได้ราว 19% ภายในปี 2573 แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยหากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็ทำได้ไม่ยากนัก เพราะมีเทคโนโลยี มีเงินทุน

ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีไม่มีเงินลงทุน และก็ไม่สนใจ  เพราะเอสเอ็มอีสนใจเพียงว่าธุรกิจของเขาจะรอดไหมในเศรษฐกิจแบบนี้ ดังนั้นจึงบอกว่าเอาแค่ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 3% ต่อปี ก็น่าเพียงพอแล้ว ซึ่งเป้าหมายตรงนี้ทำได้แน่

'ชัชชาติ' ชี้ นวัตกรรมเปลี่ยน กทม. สู่ Net Zero

ทั้งนี้การทำ Net zero ของ กทม.ได้กำหนดแผนการทำ 3 เรื่อง CRO คือ Calculate Reduce Offset  ประกอบด้วย

1.Calculate คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในหน่วยงานของ กทม. โดยร่วมกับองค์การบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเริ่มใน 3 เขตก่อน คือ เขตดินแดง เขตบางขุนเทียน เขตประเวศ

2.Reduce ลด ก๊าซเรือนกระจกคือ ทำให้เมืองเดินได้ ปรับโครงสร้าง เพื่อสนับสนุนการใช้รถโดยสารสาธารณะ โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ ใช้รถไฟฟ้า หรือปั่นจักรยาน ทำทางเท้าเพิ่ม

สำหรับสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน การส่งเสริมอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น การติดตั้งหลอดไฟแอลอีดี LED ประมาณ 100,000 ดวง ซึ่งลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงและการขจัดน้ำเสีย โดยการเติมออกซิเจนลงไป

รวมถึงการแยกขยะที่ภายใน 1 ปี สามารถลดขยะได้ 300-700 ตันต่อตัน การส่งเสริมการขนส่ง และคมนาคมสะอาด เช่น การเปลี่ยนเป็นยานพาหนะต่างๆ ให้เป็นระบบไฟฟ้า EV หรืออย่างน้อยเป็น hybrid การเพิ่มการติดตั้งที่ชาร์จ EV หรือจุดแลกแบตเตอรี่ ในพื้นที่ของ กทม.การปรับผังเมืองให้ เป็นต้น

3.Offset การส่งเสริมโครงการที่เก็บกักหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออยู่ ผ่านการส่งเสริมโครงการที่เก็บกัก หรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยวิธีทางธรรมชาติ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว  ซึ่ง กทม.มีนโยบายปลูกต้นไม้  1 ล้านต้นปลูกไปแล้ว 420,000 ต้น เพิ่มสวนใกล้บ้าน 

คนกรุงเทพฯ 10 ล้านคนไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้ทุกคน แต่นวัตกรรมสามารถเปลี่ยนเมือง ตอบโจทย์ได้แก้ปัญหา  Climate Change ได้ และนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีทันสมัย แต่จะเป็นคำตอบที่ช่วยเพิ่ม Value ให้กับคน โดยเอาคนเป็นที่ตั้งเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบ ต้องมีความสนับสนุนกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ประชาชน และเอกชน ” ชัชชาติ กล่าว

Source : กรุงเทพธุรกิจ

ปัญหาพลาสติกทั่วโลกสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกที่ยังคงเป็นปัญหาหลักและส่งผลกระทบต่อระบบของโลกกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งมีเป้าหมายในการมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 มีการดำเนินงานผ่านนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการลดขยะ หยิบสิ่งที่รีไซเคิลได้มาใช้ประโยชน์ เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และสร้างความยั่งยืนให้ครบทุกมิติสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล

ด้วยแนวคิดของ พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ที่ว่า “หากป่ากลับมา สัตว์ป่าจะกลับมา” และเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการใหญ่ๆ มากมาย อาทิ โครงการปลูกป่าใน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ พร้อมสร้างแรงกระตุ้นให้มีการลงมือปฏิบัติ ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับบริษัทในเครือ และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เดินหน้ายกระดับความตระหนักเพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลงมือทำทุกมิติสิ่งแวดล้อม ปรับ-เปลี่ยน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

ความสำเร็จดังกล่าว ขยายผลสู่การพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมภายในเครือทั้งในส่วนของรีเทล ศูนย์การค้า และโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นการลดขยะ แก้ปัญหาขยะพลาสติก การรีไซเคิล รวมถึงการจัดการขยะอาหารนำไปทำปุ๋ย ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 มีการจัดการลังกระดาษโดยเปลี่ยนเป็นเตียงผู้ป่วย เปลี่ยนพลาสติกเป็นชุด PPE

และหลังจากโควิด-19 เกิดโครงการ Upcycling เปลี่ยนพลาสติกให้เป็นของมีมูลค่า มีการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเสื้อกันหนาว และผ้าห่ม เพื่อส่งต่อให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในถิ่นทุรกันดาร ผ่านโครงการขวดเปล่าไม่สูญเปล่า และยังมีโครงการต่างๆ อีกมากมาย อาทิ ร้าน GOOD GOODS (กู๊ด กู๊ดส์)ภายใต้วิสาหกิจเพื่อสังคม เซ็นทรัล ทำได้ร่วมกับดีไซเนอร์นำวัตถุดิบที่ได้มาออกแบบเป็นกระเป๋าดีไซน์ทันสมัย เพื่อลดปริมาณและเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติกได้มากที่สุด เป็นต้น

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลงมือทำทุกมิติสิ่งแวดล้อม ปรับ-เปลี่ยน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

CRC เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับบริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งเป้ามุ่งสู่ Green & Sustainable retail มีแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติก โดยเน้น 3 ประเด็นสำคัญคือ ‘การลดขยะ’ โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถัดมา คือ ‘การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ส่งเสริมให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สุดท้าย ‘การรวบรวมส่งรีไซเคิล’ ผลิตสินค้ากระเป๋าผ้า ผ้าห่ม เสื้อกั๊ก และการลดขยะอาหารโดยลดราคาก่อนหมดอายุ บริจาคให้กลุ่มเปราะบาง หรือรวบรวมทำปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ พร้อมเดินหน้าสู่ Net zero ในปี 2050 ผ่านกลยุทธ์ ReNEW ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หันมาใช้พลังงานสะอาด การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการของเสีย การส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว 50,000 ไร่ ภายในปี 2030

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลงมือทำทุกมิติสิ่งแวดล้อม ปรับ-เปลี่ยน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

เซ็นทรัลพัฒนา ลดขยะฝังกลบ 50%

ด้าน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมทั่วประเทศ มุ่งพัฒนาโครงการควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายการลดปริมาณขยะที่ส่งไปหลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ตั้งเป้า ปี 2023 ลดขยะฝังกลบให้ได้ 35% ของปริมาณขยะทั้งหมดที่ขนออกจากองค์กร และลดลงให้ได้ 50% ภายในปี 2025 รวมถึงเล็งใช้พลังงานทดแทน 100% อาทิ ติดโซลาร์เซลล์ที่หลังคาทุกสาขา และมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการใช้ฟอสซิล อีกทั้ง มีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส มุ่งสู่การจำกัดอุณหภูมิฯ ไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยอยู่ระหว่างศึกษาในเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลงมือทำทุกมิติสิ่งแวดล้อม ปรับ-เปลี่ยน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

โรงแรมยั่งยืน สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

สำหรับบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) มีการวางแนวนโยบายการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ กำหนดแนวปฏิบัติให้กับทุกโรงแรม เพื่อให้มีการคัดแยกขยะก่อนนำขยะกำพร้าส่งไปยังหลุมฝังกลบตามหลักการลดขยะจากต้นทาง อีกทั้ง มีการบันทึกข้อมูลขยะโดยแบ่งเป็น 4 ประเภทหลัก คือ 1. ขยะรีไซเคิล 2. ขยะอินทรีย์ 3. ขยะทั่วไป และ 4. ขยะอันตราย

เป้าหมายระยะแรก 10 ปี (ปี 2020-2029) คือ มุ่งลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำ ลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% เทียบจากปีฐาน 2019 เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด บำบัดน้ำเสียเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ ลดการนำขยะไปยังหลุมฝังกลบ คัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ เปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินและได้ก๊าซชีวภาพสำหรับปรุงอาหารในโรงแรม ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกป่าอย่างน้อย 100,000 ต้น ภายในปี 2029

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลงมือทำทุกมิติสิ่งแวดล้อม ปรับ-เปลี่ยน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

Love the Earth เปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อโลก

เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ชวนเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แคมเปญ “Love the Earth” (เลิฟ ดิ เอิร์ธ) ในธีม Beat Plastic Pollution ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติก สู่เป้าหมาย NetZero ปี 2050 ส่งเสริมด้านความยั่งยืนผ่านกิจกรรม World Environment Day ในรูปแบบ Carbon Neutral ตั้งแต่การ Reuse วัสดุภายในงาน นำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำไป Recycle อย่างถูกวิธี รวมถึงการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะทำการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากับศูนย์

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลงมือทำทุกมิติสิ่งแวดล้อม ปรับ-เปลี่ยน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

Source : กรุงเทพธุรกิจ