“ชยาวุธ” ชม หม้อแปลงใต้น้ำ Low carbon จัดระเบียบทัศนียภาพ เสริมสร้างความปลอดภัย จัดการพลังงานสิ้นเปลือง ลดค่าไฟ ลดโลกร้อน ก้าวสู่ Net Zero Emission

“นายชยาวุธ จันทร ประธานบอร์ด กฟน. และนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมคณะกรรมการ เยี่ยมชม “หม้อแปลงใต้น้ำ Low carbon” เสริมสร้างทัศนียภาพ สร้างความปลอดภัยต่อประชาชนและบริหารระบบจัดการพลังงานสิ้นเปลือง ลดมลพิษ ลดค่าไฟฟ้า/ลดคาร์บอน สร้างความมั่นคงพลังงานอย่างยั่งยืน ให้ผู้ประกอบการโรงงาน อาคาร สถานประกอบการ สอดคล้อง พันธกิจ ส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนระบบไฟฟ้าสายใต้ดิน และการใช้พลังงานสะอาด ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเชิงพาณิชย์ อย่างมั่นคง


นายชยาวุธ จันทร ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมคณะกรรมการ เมื่อเร็วๆนี้ ได้เดินทางเยี่ยมชม โครงการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Submersible Transformer Low carbon การนำสายไฟลงดินทั้งระบบ ในพื้นที่สยามสแควร์ และชมหม้อแปลง Submersible Transformer Low carbon ไม่บังหน้าร้าน, ไม่บังร้านค้า ไม่บังหน้าบ้าน ปลอดภัยอัคคีภัย และระบบการบริหารจัดการพลังงานสิ้นเปลือง ที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียรการใช้พลังงานที่มั่นคง หม้อแปลงดังกล่าว ยังช่วยลดค่าไฟฟ้า ลดคาร์บอน ลดเรือนกระจก ลดโลกร้อน ทั้งยังสามารถติดตั้งใต้น้ำ และเป็นการตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามที่กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065


“ขอชื่นชมนวัตกรรมของคนไทย ที่มีการคิดค้น วิจัยนวัตกรรมลดพลังงาน ลดคาร์บอน ให้คนไทย นวัตกรรมชิ้นนี้ หม้อแปลง Submersible Transformer Low carbon จะเป็นการพัฒนาพลังงานอย่างมั่นคง และเป็นศูนย์กลางในการผลักดันพัฒนาการลดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยังช่วยในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับสภาพการณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน มีความเหมาะสมเชิงพาณิชย์ ที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชย์ต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญ ที่จะส่งผลให้ด้านการบริโภคพลังงานมีความคุ้มค่า ลดต้นทุนการผลิต นำพาประเทศไปสู่สังคมฐานความรู้ด้านพลังงาน เพื่อเศรษฐกิจมั่นคง ยั่งยืน” นวัตกรรมหม้อแปลง Submersible Transformer Low Carbon

นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานลดค่าไฟ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยให้ภูมิทัศนดูสวยงามอีกด้วย นวัตกรรมของคนไทยชิ้นนี้ ได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตีในคุณภาพมากมาย รางวัลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รางวัลกระทรวงพลังงาน Energy Award รางวัลนวัตกรรมสินค้าสนับสนุนส่งเสริมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA, สินค้า มอก. 384 และใบประกาศเกียรติคุณ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) TGO และรางวัล ASEAN Outstanding Engineering Achievement Project Award และ ASEAN Outstanding Engineering Contribution Award การันตี ทำคุณประโยชน์ในงานด้านวิศวกรรมในระดับประเทศ ASEAN Federation of Engineering Organization (AFEO) ที่ประเทศกัมพูชา

Source : AEC Online News

ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตราคาพลังงานจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดถูกกระชับพื้นที่เข้ามาเร็วยิ่งขึ้นเพื่อแสวงหาพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีความผันผวน ทิศทางของโลกจึงมุ่งสู่สังคมไร้คาร์บอน โดยประเทศไทยได้วางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065

ในปี 2566 คาดการณ์ว่าสถานการณ์พลังงานจะยังคงผันผวนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานดังกล่าว โดยนอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ตามเป้าหมาย

           ทั้งนี้ แผนงานสำคัญด้านพลังงานเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน ได้ถูกจัดวางผ่าน 4 มิติ ดังนี้

มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

–> แผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่ (แผน PDP 2022/EEP2022/AEDP2022/Oil Plan 2022/Gas Plan 2022) เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050

–> แผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก เร่งกำหนดแผนบูรณาการการลงทุนและการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

–> ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่

–> ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV Charging Station

–> ศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) 

มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ

–> กำหนดแนวทางจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานที่ต้นทุนไม่สูง โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG

–> เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน

–> ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ

–> การบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code : BEC)  

–> การใช้กลไกบริษัทจัดการพลังงาน (Energy service company : ESCO) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พลังงานในภาครัฐ

–> คาดว่ามิติด้านเศรษฐกิจจะเกิดเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 240,000 ล้านบาท

มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

–> ส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

–> พัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล

–> มาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง

  • ตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566
  • ให้ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคน
    ต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
  • ปตท.ยังคงให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

มิติที่ 4 พลังงานกับการพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ 

–> เผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบ Interactive Dashboard แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก

–> เพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน

–> ให้บริการศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ

–> พัฒนาระบบการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

ขณะที่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

Source : Energy News Center

บริษัท คลีนเนอร์ยี่ เอบีพี จำกัด (Cleanergy ABP) โดย นายอภิเชษฐ นุ้ยตูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมลงนามสัญญาพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด (Amata Facility Services) โดย นาย อัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ ในโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์ รูฟท็อป (Solar rooftop) ให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้น ณ อาคารอมตะ เซอร์วิส เซ็นเตอร์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี

โดยนายอภิเชษฐ นุ้ยตูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลีนเนอร์ยี่ เอบีพี จำกัด เปิดเผยว่า คลีนเนอร์ยี่ เอบีพี จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (Amata B.Grimm Power) และบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด (SCG Cleanergy) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อป ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพิ่มการกักเก็บพลังงานสะอาด ก้าวสู่เป้าหมายสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายอัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด เปิดเผยว่า “อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส เป็นผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคแบบครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีสถานประกอบการมากกว่า 1,000 ราย ภายในพื้นที่มากกว่า 30,000 ไร่ อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จึงมองหาพันธมิตรที่มองเห็นภาพเดียวกัน มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทางเลือก ที่ตระหนักถึงการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือกับ คลีนเนอร์ยี่ เอบีพี จึงตอบโจทย์ที่ชัดเจนทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Source : Energy News Center

ปตท. จับมือ AET พัฒนาเรือขนส่งใช้เชื้อเพลิงกรีนแอมโมเนีย เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero Emission

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษา พัฒนาและสร้างเรือขนส่ง Zero-Emission Aframax ร่วมกับ Mr. Rajalingam Subramaniam AET President & CEO and MISC Group COO (ขวา) เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงพัฒนา และสร้างเรือบรรทุกน้ำมันที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ขนาด Aframax (ขนาดประมาณ 120,000 เมตริกตัน) ชนิดเชื้อเพลิงคู่ (Dual Fuel) คือสามารถใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งกรีนแอมโมเนียและน้ำมันเตากำมะถันต่ำ จํานวน 2 ลํา ซึ่งหากการศึกษามีความเป็นไปได้ เรือลำแรกจะมีกําหนดส่งมอบให้กับ ปตท. เพื่อดำเนินการเช่าเหมาลําในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 และลำที่สองในไตรมาสที่ 1 ปี 2569

ความร่วมมือในครั้งนี้ ปตท. จะได้มีโอกาสเรียนรู้และนำเทคโนโลยีของการเดินเรือแบบใหม่มาใช้งาน ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ Green Ammonia Value Chain สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงสะอาดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

Source : Energy News Center