บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดกิจกรรมทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ AION ที่ได้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้ EV หรือกำลังมองหา EV และเพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสนใจ EV เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้รับเลือกจาก บริษัท โกลด์ อินทิเกรท จำกัด ให้เป็นหน้าร้านออนไลน์สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ AION อย่างเป็นทางการ พร้อมจับมือ ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ดูแลด้านบริการซ่อมบำรุงยานยนต์

นายสุวิชชา สุดใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. กล่าวถึง การได้รับเลือกให้เป็นหน้าร้านออนไลน์ (Official Online Store)  เพื่อจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์  AION  อย่างเป็นทางการ  พร้อมเปิดตัวด้วยจัดกิจกรรมทดลองขับ AION Y Plus

อีวี มี พลัส เดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่สังคม EV อย่างเต็มรูปแบบ

EVme เพื่อนคู่คิด เป็นที่ปรึกษาด้าน EV

อีวี มี พลัส จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ช่วยผลักดันให้ประเทศเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคม EV อย่างเต็มรูปแบบ และส่งเสริมให้เกิดการใช้รถ EV มากขึ้นในประเทศไทย ผ่านการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าสำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร และบริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าผ่านเเอปพลิเคชัน

เราตั้งใจให้ EVme เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด เป็นที่ปรึกษาด้าน EV ทั้งเรื่องตัวรถ การชาร์จ เเละการดูแลรักษา เราเป็น Multi-brand platform ที่จะให้ข้อมูลอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการรถ EV หลากหลายรุ่นตามความชื่นชอบ รวมทั้งยังสามารถซื้อและเป็นเจ้าของรถ EV ได้ง่าย และตรงใจมากยิ่งขึ้น

อีวี มี พลัส เดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่สังคม EV อย่างเต็มรูปแบบ

ตอกย้ำความมุ่งมั่นขององค์กรในการก้าวขึ้นเป็น ‘ผู้นำด้านแพลตฟอร์มการเดินทางอย่างยั่งยืนของอาเซียน’ และถือเป็นโอกาสอันดีที่เราได้รับเลือกจาก บริษัท โกลด์ อินทิเกรท จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ AION รายแรกในประเทศไทย ให้เป็นหน้าร้านออนไลน์อย่างเป็นทางการสำหรับการจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ AION ซึ่งจะช่วยเสริมการบริการของ EVme ให้มีความหลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่กว้าง และยืดหยุ่นมากขึ้น

แพลตฟอร์มที่ทําให้ทุกคนเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ อีวี มี พลัส ยังร่วมมือกับศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ให้บริการซ่อมบำรุงยานยนต์แบบเบาและดูแลรักษารถยนต์ตามระยะทาง เพื่อรองรับต่อการขยายตัวของตลาด EV และความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

นายสุวิชชา  กล่าวเสริมอีกว่า ต้องการเป็นแพลตฟอร์ม EV Lifestyle ที่ทุกคนนึกถึง สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชาร์จ ได้ลองขับรถหลายรุ่น จากที่บ้านไปที่ทำงาน หรือขับไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งหากใครกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า อยากศึกษา อยากรู้จัก อยากทดลอง แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี

“อยากให้ลองมาทําความรู้จักกับ EVme แพลตฟอร์มที่ทําให้ทุกคนเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้น และทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ในชีวิตประจําวัน และรวมถึงทําให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อีกด้วย  และผมพูดเสมอว่าเราไม่ได้อยากแข่งขันกับใคร ผมอยากให้ทุกคนเป็นพันธมิตรกันมากกว่า เทคโนโลยีของรถ EV ทุกวันนี้ล้ำหน้าใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างจากรถสันดาปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้รถ EV ไม่ได้แข่งขันกับรถ EV ด้วยกันเอง แต่กำลังแข่งขันกับรถสันดาปมากกว่า”

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus  ที่เพิ่งเปิดตัวไปจะเป็นรุ่น Standard Range Plus โดยจะเป็นรถยนต์อเนกประสงค์สไตล์ Crossover แบบ 5 ประตู ที่มาพร้อมกับดีไซน์ภายนอกที่ทันสมัย โดดเด่นด้วยชุดไฟหน้า LED ที่มีการเล่นลายเส้นภายในโคมไฟที่ดูสวยงาม ซึ่งทาง AION ได้ให้คำนิยามไว้ว่า ‘ปีกนางฟ้า’ พร้อมด้วยกระจังหน้าแบบปิดทึบในแบบฉบับของรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับกันชนด้านล่างที่มีการเว้นช่องระบายอากาศ ช่วยเพิ่มมิติด้านหน้าของตัวรถได้เป็นอย่างดี ในส่วนของแบตเตอรี่ จะเป็นชนิดลิเธียมฟอสเฟต (Lithium Iron Phosphate) ที่ใช้เทคโนโลยี Magazine ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ตัวแบตเตอรี่มีความจุอยู่ที่ 60 Kwh สามารถทำระยะทางสูงสุดต่อการชาร์จ 1 ครั้งที่ 490 กิโลเมตร ตามมาตรฐานทดสอบจาก NEDC ห้องโดยสารภายในกว้างขวาง และยังมีจอสัมผัสมัลติฟังก์ชันมีขนาดใหญ่ถึง 14.6 นิ้ว ใช้ควบคุมระบบต่าง ๆ ของตัวรถ ส่วนผู้ขับขี่จะมีหน้าจอขนาด 10.25 นิ้ว ด้านหลังพวงมาลัย เพื่อช่วยบอกข้อมูลด้านการขับขี่

อีวี มี พลัส เดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่สังคม EV อย่างเต็มรูปแบบ

ด้าน นายหวัง หย่ง เจี่ย ประธานกรรมการ บริษัท โกล์ด อินทิเกรท จำกัด 1 ใน 4 ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการรถ GAC ในประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2566 คาดว่ายอดจำหน่ายรถ GAC ในไทยของตัวแทนจำหน่ายทุกเจ้าจะอยู่ที่ 4,000 – 6,000 คัน ส่วนในปี 2567 จะอยู่ที่ 18,000 คัน สำหรับบริษัท โกล์ด อินทิเกรท จำกัด คาดว่าปี 2566 จะจำหน่ายรถ GAC ได้ 1,000 คัน โดยปีนี้จะนำรถเข้ามาจำหน่าย 2 รุ่นก่อน และในปี 2567 จะนำรถเข้ามาจำหน่าย 2 – 3 รุ่น คาดว่าจะเปิดโชว์รูมในไทยประมาณ 20 แห่ง 

นายสุรเชฏฐ์ พรพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจบริการยานยนต์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับ FIT Auto จะเข้ามาช่วย EVme ในบริการซ่อมบำรุงรถยนต์แบบเบาและดูแลรักษารถยนต์ตามระยะทาง (Light Maintenance) โดยปัจจุบัน FIT Auto มีสาขา 91 สาขาทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และในปีหน้ามีแผนจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ใช้ยานยนต์ทุกเส้นทาง

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเปิดประสบการณ์ EV และสัมผัสสมรรถนะ รวมถึงระบบต่างๆ ของ AION Y Plus สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ https://giaion.evme.io/  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02-028-2686 อีเมล aion@evme.io

Source : กรุงเทพธุรกิจ

“บีโอไอ”กางแผนดึงลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ EV เป้าหมาย 40 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2030 เน้นเทคโนโลยีระดับเซลล์หลังส่งเสริมในไทยแล้วกว่า 14 โครงกาารเตรียมดันมาตรการEV 3.5 เสนอรัฐบาลใหม่รักษาโมเมนตั้มตลาดรถในประเทศ ชี้ค่ายรถเตรียมเพิ่มการลงทุน EV อีกหลายรายวางไทยเป็นฐาน

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “อีวี” ของไทยกำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเดินบนเส้นทางอุตฯอีวียังมีต่อ 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตลาดรถอีวีในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยใน 2 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเกิน 100%  การขยายตัวนี้ยังทำให้ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถอีวีของภูมิภาค โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรถอีวีในไทยแล้วกว่า 14 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมกว่า 2.76 แสนคันหากมีการผลิตครบเต็มจำนวน รวมทั้งมีการส่งเสริมให้มีการลงทุนในสถานีชาร์จอีวีซึ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 10 โครงการ รวม 11,600 หัวจ่าย

โครงการแบ่งเป็นโครงการที่ภาคเอกชนจะลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและโครงการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นุปกรณ์กักเก็บพลังงาน (energy storage)

'บีโอไอ' กางแผนดึงโรงงาน 'เซลล์แบต EV' เป้าหมายกำลังผลิต '40GWh' ในปี2030

เน้นส่งเสริมโรงงานแบตเตอรี่ระดับเซลล์

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตแบตเตอรี่หลายโครงการแล้วแต่ปัจจุบันการเข้ามาลงทุนในไทยยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นการประกอบแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถอีวีในลักษณะที่เป็น Cell to Pack และ Cell to Module ซึ่งประเทศไทยมีการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ประเภทนี้ แต่เป้าหมายหลักของไทยในระยะต่อไปคือส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีต้นน้ำคือส่งเสริมให้มีการลงทุนโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์แบตเตอรี่

เป้าหมายมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ 40 GWh ภายในปี 2030 

ทั้งนี้ โรงงานแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีระดับเซลล์สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศหรือเป้าหมาย “30@30” หรือการมีการผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศหรือต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV)ได้ประมาณ 7.25 แสนคัน นั้นหมายความว่าต้องมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศเพื่อรองรับการผลิตรถอีวีประมาณ 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) โดยขนาดของแต่ละโรงงานการผลิตแบตเตอรี่ควรจะมีขนาดโรงงานละไม่ต่ำกว่า 8 GWh

ถือว่าเป็นเป้าหมายในการทำงานของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่จะสร้างระบบนิเวศน์การเป็นฐานการผลิตรถอีวีอย่างครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งมาตรการสนับสนุนที่บอร์ดอีวีจะให้เงินสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่จะเน้นไปที่โรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 8 GWh

ตั้งเป้าดึงรายใหญ่สร้างโรงงานเซลล์แบตฯในไทย

โดยในประเทศไทยมีการให้การส่งเสริมการลงทุนไปหลายราย สำหรับ บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกบางรายที่เข้ามาลงทุนผลิตโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในไทย เช่นบริษัท Contemporary Amperex Technology Co. Limited (CATL) และบริษัท SVOLT Energy Technology (SVOLT) ต่างก็มีเทคโนโลยีในระดับเซลล์ แต่จากการหารือถึงโอกาสที่จะเข้ามาตั้งโรงงานมที่ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องมีดีมานต์รถอีวี ในประเทศไทยในระดับ 1 – 1.5 แสนคันต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูง แต่ประเทศไทยต้องพยายามผลักดันให้ดีมานต์ของรถอีวีในประเทศให้อยู่ในระดับที่มากเพียงพอ

ค่ายรถตบเท้าลงทุน EV ในไทย

ล่าสุดมียอดจดทะเบียนรถอีวี แล้วประมาณ 6 หมื่นคัน และตามมาตรการส่งเสริมอีวี 3.0 การผลิตรถอีวีในประเทศไทยเพื่อทดแทนการนำเข้ามาจำหน่ายก็จะเริ่มขึ้นในปี 2567 – 68 ซึ่งก็จะเริ่มมีความต้องการใช้แบตเตอรี่รถอีวี ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“มีอีกหลายค่ารถยนต์จากประเทศต่างๆที่จะเข้ามาเริ่มลงทุนสร้างโรงงาน เช่น บริษัทฉางอัน ออโตโมบิล บริษัท GACAION  จากประเทศจีนซึ่งจีนนั้นจะมีอีกหลายรายที่เข้ามาลงทุนในไทยเนื่องจากตามยุทธศาสตร์จีนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวีพวงมาลัยขวานอกประเทศ”

'บีโอไอ' กางแผนดึงโรงงาน 'เซลล์แบต EV' เป้าหมายกำลังผลิต '40GWh' ในปี2030

ขณะที่ค่ายรถยนต์จากที่อื่นๆก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนผลิตรถอีวีในประเทศยุโรป โดยบริษัทเมอร์ซิเดสเบนท์เริ่มลงทุนแล้ว บริษัท BMW มีแผนที่จะเริ่มการลงทุน ส่วนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยก็มีความสนใจที่จะเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากรถสันดาปไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งบีโอไอก็พร้อมให้การสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

เตรียมเสนอแผนอีวี 3.5 ให้รัฐบาลใหม่พิจารณา 

สำหรับมาตรการการส่งเสริมรถอีวี 3.0 ที่จะหมดอายุลงในปีนี้บอร์ดอีวีเตรียมจะเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณามาตรการอีวี 3.5 ซึ่งยังคงมีมาตรการในการสนับสนุนและอุดหนุน เพื่อเป็นการรักษาโมเมนตั้มของตลาดรถอีวีในประเทศให้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ในประเทศที่จะมีการให้เงินสนับสนุนซึ่งเป็นเรื่องที่ได้มีการเสนอผ่านมาตรการและได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดอีวีแล้วแต่จะต้องรอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาตามที่บอร์ดอีวีเสนอ

ตามแผนส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการขับเคลื่อนทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งในส่วนของอีวีการส่งเสริมการตั้งโรงงานและเทคโนโลยีแบตเตอรี่  การส่งเสริมการผลิตอีวี และการส่งเสริมการใช้อีวี ทั้งหมดมีความเกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกัน ขณะนี้รอเพียงรัฐบาลใหม่จะมาเป็นผู้เชื่อมโยงแผนต่างๆให้เดินหน้าสู่เป้าหมายได้ตามความตั้งใจ

Source : กรุงเทพธุรกิจ

Mazda Motor บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น กำลังพูดคุยกับ Panasonic Energy ในการพัฒนาแบตเตอรี่ EV เพื่อใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าของมาสด้าในอนาคต Mazda ก่อนหน้านี้ได้เปิดเผยการลงทุน 10.6 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการผลิตรถยนต์ EV จนถึงปี 2030

ผู้บริหารทั้งสองบริษัทเผยว่าพวกเขากำลังสนทนาเพื่อกำหนดความร่วมมือในการตอบสนองความต้องการเพื่อรถยนต์แบตเตอรี่ EV และแบตเตอรี่ยานยนต์ในตลาดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

Mazda มีแววจับมือ Panasonic ปั้นแบตเตอรี่ EV รุ่นใหม่ พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

Mazda ต้องการให้ Panasonic จัดหาแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่ผลิตขึ้นที่โรงงานของบริษัทในญี่ปุ่นและอเมริกาเหนือ และคาดว่า Mazda จะใช้แบตเตอรี่ Panasonic ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงประมาณปี 2025-2027 หรือหลังจากนั้น

Mazdaคาดว่ารถ EV จะมีอัตราส่วนระหว่าง 25% ถึง 40% ของรถทั้งหมดที่วางขายจนถึงสิ้นทศวรรษ ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของกลยุทธ์ของ Mazda คือ การร่วมมือกับผู้อื่น เช่นผู้จัดหาแบตเตอรี่เช่นพานาโซนิค หรือพาร์ทเนอร์เจ้าอื่นๆ

Mazda มีแววจับมือ Panasonic ปั้นแบตเตอรี่ EV รุ่นใหม่ พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

ก่อนหน้านี้ Mazda ได้ใช้แบตเตอรี่ Panasonic สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า Demio EV (หรือที่รู้จักในต่างประเทศว่า Mazda 2) รถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะทางการขับขี่ 200 กม.

ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้อาจทำให้มาสด้าสามารถทำรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจเข้ามาแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องรอดูว่าจะมีรุ่นไหนน่าสนใจบ้างคาดว่าจะได้เห็นในราวๆ ปี 2025-2027 นี้

ที่มา : electrek

Source : Spring News

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่สำหรับปั๊มชาร์จรถ EV ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายขายให้กับปั๊มชาร์จคือ 2.9162 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับทุก 4 เดือน และค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน ย้ำใช้เฉพาะปั๊มชาร์จรถ EV สาธารณะที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเท่านั้น ส่วนสถานีชาร์จรถ EV อื่นๆ ต้องใช้อัตราเดียวกับค่าไฟฟ้าบ้านซึ่งมีราคาแพงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน  

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ ปั๊มชาร์จรถ EV  ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2566 หลังจากเปิดรับฟังความเห็นประชาชนมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา  

โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขายให้กับปั๊มชาร์จรถ EV คือ  2.9162 บาทต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จำหน่ายอยู่ 2.6369 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ(บอร์ด) กกพ. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากค่าไฟฟ้า 2.9162 บาทต่อหน่วยแล้ว ยังต้องรวมกับค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ประกาศปรับทุก 4 เดือน (ปัจจุบัน Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย) หรือคิดรวมประมาณ 3.8 บาทต่อหน่วย และรวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือนด้วย

อย่างไรก็ตามอัตราดังกล่าวจะใช้เฉพาะปั๊มชาร์จรถ EV ที่เปิดจำหน่ายแบบสาธารณะ ซึ่งได้ขอใบอนุญาตจำหน่ายและเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไว้เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนการใช้รถ EV ในประเทศ  ส่วนปั๊มชาร์จรถ EV อื่นๆ จได้รับค่าไฟฟ้าตามอัตราค่าไฟฟ้าบ้านเรือน (ค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย) รวมค่าบริการรายเดือนประมาณ 24.62 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าปั๊มชาร์จ EV แน่นอน

ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าปั๊มชาร์จรถ EV ที่ 2.9162 บาทต่อหน่วย จะต้องปรับปรุงในอนาคต หากการใช้รถ EV ในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง กกพ.จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป 

สำหรับที่มาของการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปั๊มชาร์จรถ EV เกิดจาก ที่ผ่านมา กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) แบบ Low Priority ซึ่งหมายถึงการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ถูกจัดให้เป็นความสำคัญระดับรอง โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถเข้าควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้เมื่อมีข้อจำกัดของระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนทั่วไป และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศ

โดยที่ผ่านมา กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority หรือเรียกว่า “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งราคาดังกล่าวถือเป็นราคาขายปลีกไฟฟ้าให้สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อนำไปจำหน่ายปลีกในราคาที่แตกต่างกันไปของแต่ละสถานีฯ อีกที ทั้งนี้ “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วยดังกล่าว ถูกใช้มาตั้งแต่ เม.ย. 2564 จนปัจจุบันครบกำหนด 2 ปีแล้ว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่19 มี.ค. 2563 ที่กำหนดว่าให้ใช้อัตราดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีการประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ 

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กกพ.ได้มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ปี 2565-2568 แล้ว ประกอบกับ “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย ถูกใช้มาครบ 2 ปีแล้ว ดังนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงขอให้ กกพ.ทบทวน  “EV Low Priority” ใหม่ ให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟน. และ PEA ที่ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้จากการทบทวนอัตรา EV Low Priority ของคณะกรรมการ(บอร์ด) กกพ. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ได้เห็นชอบกำหนดอัตราใหม่ที่ 2.9162 บาทต่อหน่วย สำหรับทุกแรงดัน รวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน

Source : Energy News Center

รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ด้วยข้อดีในเรื่องของความประหยัด ทั้งค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟ และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถ ที่ต่ำกว่ารถใช้น้ำมันเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ จำเป็นต้องวางแผนเรื่องการชาร์จไฟให้กับรถตัว ใครที่อยู่คอนโดไม่มีสถานีชาร์จ ก็อาจจะต้องไปชาร์จที่สถานีชาร์รถไฟฟ้าตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมัน ศูนย์บริการรถยนต์บางยี่ห้อ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่บริการของเอกชนต่างๆ แต่ใครที่มีบ้าน อยากแนะนำว่าให้ติดตั้ง EV Charger ไว้ที่บ้าน ซึ่งจะได้รับความสะดวกมากที่สุด แต่ก่อนจะติดตั้งแนะนำให้ตรวจสอบความพร้อมของบ้านก่อนกันครับ

รู้จักกับ EV Charger กันก่อน

เราเริ่มต้นกับการทำความรู้จัก EV Charger กันก่อนครับ อธิบายง่ายๆ ก็คือ อุปกรณ์สำหรับชาร์จไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง หรือบางคนอาจจะเรียกว่า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

  1. Quick Charger แบบ DC เป็นรูปแบบของระบบการชาร์จด้วยตู้ EV Charger ที่มีการจ่ายไฟกระแสตรง (DC) เข้าไปที่แบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จที่น้อยกว่าแบบอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังชาร์จที่ตู้ชาร์จสามารถทำได้ รวมถึงกำลังชาร์จที่รถยนต์ไฟฟ้านั้นรองรับด้วย ปัจจุบันนี้เราจะพบตู้ชาร์จแบบ DC ได้ตามสถานีชาร์จต่างๆ ตามปั๊มน้ำมัน ศูนย์บริการรถยนต์ และสถานที่บริการของเอกชนต่างๆ
  2. Normal Charger (Double Speed Charge) ในรูปแบบ Wall Box หรือเป็นกล่องตู้ติดตั้งอยู่ที่บ้านนั่เอง ซึ่งจะเป็นการชาร์จด้วยไฟกระแสสลับ (AC) พบตามบ้านทั่วไป รวมถึงโรงแรม และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งลักษณะการทำงานก็จะมีการแปลงไฟกระแสสลับให้เป็นไฟกระแสตรง แบบนี้จะใช้เวลาชาร์จค่อนข้างนาน เรียกว่าเหมาะกับคนที่ต้องการชาร์จรถที่บ้านมาก เสียบสายชาร์จตั้งแต่กลับบ้านช่วงเย็นๆ แล้วก็ไปนอน เช้ามาก็เต็มพอดี แนวๆ นี้ครับ ระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับกำลังไฟตัวตู้ชาร์จ และการรองรับของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยเฉลี่ยอยู่อยู่ 4 – 9 ชั่วโมง
  3. Normal Charger แบบอุปกรณ์เต้ารับ ลักษณะก็จะเหมือนการต่อไฟจากบ้านเขารถโดยตรงผ่านตัวอุปกรณ์ ซึ่งบ้านที่จะสามารถจ่ายไฟได้ จะต้องติดตั้งมิเตอร์แบบ 15(45)A เพราะว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะต้องใช้กระแสไฟฟ้าสูงขณะทำการชาร์จนั่นเอง นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบสายไฟ สะพานไฟ ด้วยว่าสามารถรองรับได้หรือไม่ และอุปกรณ์ชาร์จควรจะมีระบบตัดไฟอัตโนมัติ หรือตัดไฟเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย สำหรับระยะเวลาในการชาร์จแบบนี้จะช้าที่สุดครับ เวลาที่ใช้ราวๆ 12 – 15 ชั่วโมง

6 สิ่งต้องเช็ค ก่อนติดตั้ง EV Charger

ตอนนี้ก็มาดูกันว่า เราจะต้องเช็คอะไรบ้าง ก่อนจะติดตั้ง EV Charger ไว้ใช้ที่บ้าน สำหรับคำแนะนำจากทางการไฟฟ้านครหลวงนั้น ก็แนะนำไว้ 2 อย่างหลักๆ เลยก็คือ แนะนำให้เพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า เป็น 30(100)A แบบเฟสเดียว หรือ 30(100)A แบบ 3 เฟส และบ้านไหนไม่สะดวกที่จะปรับปรุงระบบไฟฟ้าใหม่ ให้ทำการขอติดตั้งมิเตอร์เครื่องที่ 2 สำหรับ EV Charger โดยเฉพาะไปเลย โดยสามารถเลือกใช้มิเตอร์แบบ TOU ได้อีกด้วย

1.ตรวจสอบขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้าน

เริ่มจากดูขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านเราก่อน ถ้าใครไม่ทราบแนะนำให้ดูที่มิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้งบริเวณหน้าบ้าน หรือสอบถามจากการไฟฟ้าใกล้บ้าน สำหรับคำแนะนำจากการไฟฟ้า สำหรับไฟ 1 เฟส ต้องมีขนาดมิเตอร์ 30 แอมป์ขึ้นไป ส่วนไฟ 3 เฟส แนะนำว่าต้องมีขนาดมิเตอร์ 15/14 แอมป์

2.ขนาดสายไฟเมนของบ้าน

สำหรับขนาดของสายไฟเมนที่เชื่อมต่อมายังตู้ควบคุม ต้องมีขนาด 256 ตารางมิลลิเมตร หรือขนาดที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งขนาดที่ว่านี้เป็นขนาดของเส้นทองแดง นอกจากนี้ตู้ควบคุม Main Circuit Breaker ควรใช้ตู้ที่รองรับกระแสไฟได้สูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์

3.ตู้ควบคุมไฟฟ้า Main Circuit Breaker

ตู้ควบคุมไฟฟ้าของบ้านจะต้องรองรับกระแสไฟสูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์ มีช่องว่างสำหรับติดตั้ง Miniature Circuit Breaker , 1P ขนาด 16A ซึ่งจะต้องเป็นช่องแยกจ่ายไฟออกมาจากส่วนอื่นๆ

4.เครื่องตัดไฟรั่ว RCD (Residual Current Devices)

เราควรติดตั้งเครื่องตัดวงจร กรณีการรัดวงจรของอุปกรณ์​ มีค่ากระแสไฟฟ้าไหลเข้าออกไม่เท่ากัน รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ไฟรั่ว ไฟเกินอีกด้วย ซึ่งเครื่องตัดไฟรั่วจะทำการตรวจสอบกระแสไฟที่ไหลผ่าน หากพบกว่ามีกระแสไฟที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการหายไปบางส่วน เช่น รั่วไหลไปลงดิน รั่วไหลไปสู่อุปกรณ์อื่นๆ เพราะมีการชำรุดของอุปกรณ์ ก็จะทำหน้าที่ตัดไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ไฟดูด หรือเกิดไฟไหม้ อีกทั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีควรมีระบบตัดไฟอย่างน้อย RCD Type B หรือเทียบเท่า

5.เต้ารับ EV Socket Outlet

สำหรับเสียบสายชาร์จ เป็นชนิด 3 รู ต้องทนต่อกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 A ตาม มอก.166-2549 หรืออาจเป็นเต้าสำหรับอุตสาหกรรม ต้องมีหลักดิน ซึ่งแนะนำให้แยกออกจากหลักดิน ของระบบไฟเดิมของบ้าน โดยใช้สายต่อหลักดิน เป็นสายหุ้มฉนวน ที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร ส่วนหลักดิน ควรมีขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 2.4 เมตร ตามมาตรฐาน และการต่อสายดินกับหลักดิน ควรเชื่อมต่อกันด้วยความร้อน

6.ตำแหน่งการติดตั้ง EV Charger

ให้สำรวจบริเวณบ้าน ตำแหน่งที่เราจอดรถก่อนว่า มีพื้นที่เพียงพอต่อการจอดรถ และเสียบสายชาร์จหรือไม่ คำแนะนำก็คือ ควรมีระยะห่างระหว่าง EV Charger กับตัวรถไม่เกิน 5 เมตร และพื้นที่นั้นควรจะเป็นที่ร่มมีหลังคา กันแดด กันฝนได้

สำหรับท่านที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้วมีโปรโมชั่นแถม EV Charger มาให้เรียบร้อย ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก เพราะจะมีช่างมาช่วยตรวจสอบให้เราทั้งหมด รวมถึงติดตั้งให้เรียบร้อยด้วย แบบนี้ก็จะสะดวกหน่อย แต่ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ซื้อแล้ว เราต้องมาติดตั้งเอง ก็แนะนำให้ตรวจสอบให้ดีก่อน หากเราไม่ได้มีความชำนาญเรื่องพวกนี้ ไม่แนะนำให้ซื้อตามออนไลน์แล้วมาติดตั้งเองนะครับ เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องของไฟฟ้าค่อนข้างสูง ลองหาช่างหรือบริษัทที่รับติดตั้งมาจัดการให้จะดีทึ่สุดครับ

ภาพประกอบ : Freepik