ผู้เชี่ยวชาญเผยต้นทุนติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ขนาดเล็กเพียงแค่ราว 5,000 บาทต่อแผง แต่ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากถึงเฉลี่ย 500 บาท ต่อเดือน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วยลดค่าไฟบ้าน แถมช่วยลดโลกร้อน

เมื่อต้นทุนราคาแผงโซล่าร์เซลล์ราคาถูกลงเรื่อยๆ ความนิยมในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สปริงนิวส์ ได้รับโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ซึ่งในเวลาว่าง เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนรณรงค์การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่แข็งขันที่สุดคนหนึ่งของไทย เพื่อมาดูกันว่า คนทั่วไปอย่างเราๆ จะสามารถใช้ประโยชน์จากพลังแสงอาทิตย์ที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ นี้ได้อย่างไรบ้าง

รู้จักประเภทการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์

ผศ.ดร.สมพร อธิบายว่า สำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้าน สามารถทำได้ 3 ระบบด้วยกัน ได้แก่

  1. โซลาร์เซลล์ ประเภท on grid: ซึ่งการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทนี้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้แบตเตอรีในการสำรองไฟ เพราะเป็นระบบที่จ่ายไฟเข้ากับระบบไฟบ้าน เชื่อมกับระบบไฟฟ้าส่วนกลางของการไฟฟ้าฯ โดยตรง ซึ่งจะมีข้อดีคือเมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่พอ จะใช้ไฟบ้านเข้าช่วยได้ และหากผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกินความต้องการก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าฯ ได้
  2. โซลาร์เซลล์ ประเภท off grid: โซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะแตกต่างจากระบบ on grid คือจะเป็นระบบไฟฟ้าที่แยกต่างหากออกจากระบบไฟฟ้าส่วนกลาง มักนิยมใช้ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้าใช้ หรืออาจใช้ในเมืองก็ได้สำหรับบ้านที่ไม่ต้องการพึ่งพิงการใช้ไฟฟ้าจากระบบส่วนกลางเลย โดยระบบโซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะต้องใช้แบตเตอรีเป็นตัวสำรองไฟ เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้นำมาใช้เวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์
คุณเองก็ติดที่บ้านได้ โซล่าร์แผงเล็กช่วยประหยัดค่าพลังงานช่วยโลก

  1. โซลาร์เซลล์ ประเภท hybrid: โซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะเป็นระบบที่มีความผสมผสานระหว่าง ระบบ on grid และระบบ off grid โดยจะมีการนำแบตเตอรีมาสำรองพลังงานเพื่อใช้ในตอนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ แต่ยังคงเป็นระบบที่เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าส่วนกลาง โดยเมื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าที่ต้องการ จะนำพลังงานที่ผลิตได้ไปเก็บไว้ในแบตเตอรีและดึงมาใช้เมื่อไฟไม่เพียงพอ เมื่อถึงกลางคืนระบบไฮบริดจะนำไฟการแบตเตอรีมาใช้ก่อน เมื่อไม่พอจึงจะนำไฟจากการไฟฟ้ามาใช้ต่อไป

ผศ.ดร.สมพร กล่าวว่า สำหรับผู้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ้านเรือนทั่วไป ควรพิจารณาถึงรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของบ้านตนเองก่อน เพื่อที่จะเลือกติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานในครัวเรือนของตนมากที่สุด เพราะแต่ละระบบล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน มีความเหมาะสมต่อรูปแบบการใช้พลังงานแตกต่างกัน

โซลาร์เซลล์แพงไหม? จะคุ้มค่าติดตั้งหรือเปล่า?

หลายๆ คน เมื่อพูดถึงการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ มักจะนึกถึงการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมากแบบของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่มักจะต้องใช้เงินลงทุนก้อนโต หลายแสนหลายล้านบาท หากแต่สำหรับบุคคลทั่วไป ที่ต้องการเฉพาะการผลิตไฟฟ้าที่บ้าน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงาน ผศ.ดร.สมพร กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงขนาดนั้น

คุณเองก็ติดที่บ้านได้ โซล่าร์แผงเล็กช่วยประหยัดค่าพลังงานช่วยโลก

โดย ผศ.ดร.สมพร อธิบายว่า สำหรับบ้านเรือนบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมากอย่างเช่นธุรกิจใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 550 วัตต์ ประมาณ 1 – 2 แผง ก็เพียงพอต่อการช่วยลดค่าใช้จ่ายบิลไฟฟ้าที่บ้านแล้ว โดยในขณะนี้ ต้นทุนราคาแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 550 วัตต์ สำหรับใช้ในบ้านเรือนมีราคาถูกลงมากแล้ว เพียงประมาณแผงละ 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับสเป็กและยี่ห้อของแผง

ในขณะที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์แผงหนึ่ง อาจช่วยประหยัดไฟได้ถึงเดือนละ 500 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้พลังงาน และหากผู้ใช้นำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้ไปหนุนเสริมกับธุรกิจที่บ้านก็จะยิ่งช่วยให้สามารถคืนทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ไวขึ้น เฉลี่ยแล้วภายใน 1 ปี

เช่นเดียวกับราคาต้นทุนแบตเตอรี ซึ่ง ผศ.ดร.สมพร เผยว่า ก็มีราคาถูกลงแล้วเช่นกัน โดยในขณะนี้ แบตเตอรีสำหรับสำรองไฟฟ้าขนาด 1 กิโลวัตต์ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 20,000 บาทต่อลูก

“หากต้องการจะประเมินรูปแบบการใช้พลังงานว่าครัวเรือนของเรามีการใช้พลังงานในรูปแบบใด ให้ลองสังเกตเลขมิเตอร์ไฟ และจดบันทึกไว้ทุกวัน ทุกๆ เช้า และ ทุกๆ เย็น เพื่อดูว่าในช่วงเวลากลางวันมีการใช้ไฟฟ้าเท่าใด และช่วงกลางคืนมีการใช้ไฟฟ้าเท่าใด จะช่วยให้สามารถรู้ได้ว่าเราควรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบใด และขนาดเท่าใด” ผศ.ดร.สมพร กล่าว

คุณเองก็ติดที่บ้านได้ โซล่าร์แผงเล็กช่วยประหยัดค่าพลังงานช่วยโลก

โซลาร์เซลล์ต้องมีการดูแลรักษายังไง?

สำหรับเรื่องการดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์ ผศ.ดร.สมพร เผยว่า การดูแลแผงมีเพียงแค่ต้องหมั่นตรวจสอบระบบไฟให้อยู่ในสภาพใช้งานดีอยู่เสมอ และหมั่นทำความสะอาดแผง เพื่อช่วยให้แผงสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ โดยในพื้นที่ที่สะอาด ห่างไกลโรงงานและฝุ่นควัน อาจจะทำความสะอาดแค่เพียงทุกๆ ครึ่งปี แต่หากบ้านอยู่ในเมือง หรือเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษฝุ่นเยอะ อาจต้องทำความสะอาดแผงบ่อยกว่านั้น

“ผมอยากให้ทุกคนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ที่บ้าน เพราะนอกจากจะช่วยเราประหยัดไฟได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอีกด้วย ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์สามารถใช้งานได้นานถึง 25 – 30 ปี เมื่อใช้จนสิ้นอายุขัยการใช้งานก็สามารถส่งไปรีไซเคิลได้ แต่สำหรับผู้ใช้ไฟบ้านธรรมดา เมื่อผ่านไป 30 ปี เราก็จะได้แค่กองใบเสร็จค่าไฟกองโต” ผศ.ดร.สมพร กล่าวทิ้งท้าย

Source : Spring News

โซลาร์เซลล์กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ในบ้านเราก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งค่าไฟในบ้านเราปรับตัวสูงขึ้น ก็ทำให้คนมองหาพลังงานทางเลือกมาใช้ทดแทนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ช่วงนี้จะพบว่ามีบริษัทรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากมายไปหมด ลงโฆษณาผ่านสื่อบนออนไลน์มากมาย และหลายๆ บ้านก็เริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์กันไปแล้ว บางบ้านที่ติดมาหลายปี ถึงจุดคุ้มทุนไปแล้วตอนนี้ก็ใช้ไฟฟรีก็มีเยอะเช่นกัน และแน่นอนว่านักวิจัยต่างๆ ทั่วโลกก็มีการคิดค้นวิจัยเรื่องของโซลาร์เซลล์กันอย่างต่อเนื่อง

บทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับแผงโซลาร์เซลล์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Solar Leafs” หรือ PV-leafs ภาษาไทยก็เรียกง่ายๆ ว่า แผงโซลาร์เซลล์รูปทรงใบไม้ เป็นการคิดค้นและออกแบบจากนักวิจัยของ Imperial College London ในประเทศอังกฤษ ซึ่งการคิดค้นแผงโซลาร์เซลล์รูปทรงใบไม้ครั้งนี้เป็นการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และใช้วัสดุในการผลิตแผงที่มีราคาถูกลง

Image: Dr Gan Huang

การออกแบบแผงโซลาร์เซลล์รูปทรงใบไม้นี้ ก็จะมีการออกแบบทั้งรูปทรงและรูปแบบการทำงานให้คล้ายกับใบไม้ ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนี้แผงโซลาร์เซลล์ที่ใกล้เคียงกับทรงใบ้ไม้มากที่สุด ก็จะเป็นแผงประเภที่เรียกว่า “flexible solar panels” ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับรูปแบบของการติดตั้งบนพื้นผิวต่างๆ ได้ โค้งงอได้ตามรูปทรงที่ต้องการนั่นเอง สำหรับแผงโซลาร์เซลล์รูปทรงใบไม้จะแตกต่างออกไป โดยจะเรียกแบบทั่วๆ ไปว่า “Photovoltaic leaf (PV-leaf)” ซึ่งเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีรูปร่างและการทำงานคล้ายกับใบไม้ โดยแผงโซลาร์เซลล์จะถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายใบไม้ที่สามารถทำการสะสมพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ เหมือนกับกระบวนการการสังเคราะห์แสงในใบไม้ องค์ประกอบในการออกแบบนี้อาจประกอบด้วยวัสดุพิเศษที่ช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์เก็บพลังงานได้มากขึ้น และนำมาใช้ในการส่งไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยลดความร้อนด้วยกระบวนการเรียกว่า transpiration คล้ายกับของใบไม้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น เป้าหมายของแนวคิดนี้คือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลดความสูญเสียของพลังงานในกระบวนการแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้านั่นเอง

Source : nature

สำหรับวัสดุที่ใช้ในการผลิตนั้นจะมาจากเส้นใบไฟเบอร์ธรรมชาติและไฮโดรเจลที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี รวมถึงเทคโนโลยีที่คิดค้นนี้จะช่วยให้ตัวแผงโซลาร์เซลล์รูปทรงใบไม้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นอีก 10% เมื่อเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้วัสดุที่นำมาใช้ผลิตนี้มีราคาถูกกว่าวัสดุที่ใช้ในการผลิตแผงโซลลาร์เซลล์ในปัจจุบัน ทำให้โดยรวมแล้วแผงโซลลาร์เซลล์รูปทรงใบไม้จะมีราคาต้นทุนที่ถูกกว่า และสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่านั่นเอง

สรุป 5 ข้อดีของ แผงโซลาร์เซลล์รูปทรงใบไม้

  1. ประสิทธิภาพการสะสมแสงอาทิตย์: PV-leaf มีวิธีการคล้ายกับวิธีการของใบไม้ในการสะสมแสงอาทิตย์และแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์แบบเดิมที่จะมีการสูญเสียพลังงานบางส่วนไป
  2. การลดความร้อน: PV-leaf ใช้รูปแบบการทำงานที่คล้ายกับกระบวนการส่งน้ำในใบพืช (transpiration) เพื่อช่วยลดความร้อนที่เกิดขึ้นในแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้มีประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น
  3. ความหนาแน่นและความเบา: PV-leaf มักถูกออกแบบให้บางและเบาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการติดตั้ง นอกจากนี้ยังทำให้เป็นไปตามการปรับรูปร่างหรือการใช้งานในพื้นที่ที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น
  4. วัสดุรูปแบบใหม่และมีราคาประหยัด: PV-leaf ใช้วัสดุที่เรียกว่า “natural fibres” และ “hydrogels” ที่มีราคาประหยัดและหาได้ง่าย มีความคุ้มค่าสูง
  5. ช่วยสนับสนุนเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด: การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เช่น PV-leaf นี้ จะช่วยให้มีการหันมาใช้โซลาร์เซลล์มากยิ่งขึ้น ด้วยการลงทุนที่น้อยลง ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น การติดตั้งสะดวกกว่านั่นเอง

ใครสนใจศึกษาแบบละเอียดเกี่ยวกับ photovoltaic leaf สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ Nature.com

หลังจากที่ค่าไฟแพง กระแสของการติดโซลาร์เซลล์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายคนมุ่งหวังที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าลงในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นมากมาย และที่สำคัญที่สุด ราคาค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้งถูกลงกว่าเดิมมาก และอุปกรณ์ต่างๆ ก็มีความทันสมัยมากขึ้น สามารถดูสถานะต่างๆ ของระบบได้ผ่านมือถือกันเลยทีเดียว รวมถึงมีการคำนวณความคุ้มค่าในการใช้งานให้ทราบอีกด้วย และหากบ้านไหนติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว มีไฟเหลือ ก็ยังสามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้อีกด้วย 

ก่อนจะไปถึงเรื่องของความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการติดโซลาร์เซลล์ เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้นมีข้อดีอะไรบ้าง

  1. รักษ์โลก ช่วยในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดนั่นเอง
  2. ลดค่าใช้จ่ายส่วนของค่าไฟฟ้าได้ค่อนข้างมาก ตั้งแต่เริ่มใช้งาน
  3. ช่วยลดความร้อนจากหลังคาให้กับบ้านได้ประมาณ 10 องศาเซลเซียส
  4. ช่วยเรื่องของมลพิษ เพราะจะเป็นการลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ
  5. การติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น

สำหรับข้อดีของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็จะมีประมาณนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การติดโซลาร์เซลล์ก็จะมีเรื่องที่เข้าใจผิดๆ กันด้วย บางเรื่องก็มีการเล่าต่อๆ กันมา บางเรื่องก็มีการนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ จากผู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของโซลาร์เซลล์ ซึ่งวันนี้ก็จะมาสรุปให้ฟังกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง 

1. ในช่วงหน้าฝน แผงโซลาร์เซลล์จะไม่สามารถใช้งานได้

เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดที่ได้ยินบ่อยมาก จริงๆ แล้วเรายังสามารถใช้งานโซลาร์เซลล์ได้ต่อเมื่อยังมีแสง เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์จะผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ความเข้มของแสง ซึ่งในช่วงหน้าฝนสิ่งที่ควรระวังก็จะเป็นเรื่องของฟ้าผ่า ที่อาจจะทำให้อุปกรณ์เสียหายได้ แนะนำว่าควรจะใช้ Inverter ที่มีระบบป้องกันฟ้าผ่า หรืออาจจะติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าภายนอกเพิ่มเติม

2. ติดโซลาร์เซลล์ ต้องใช้เงินลงทุนสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ในปัจจุบันราคาการติดโซลลาร์เซลล์เริ่มถูกลงแล้ว และเราไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียว แต่สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อสำหรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ ซึ่งจะเป็นการผ่อนชำระต่อเดือนในอัตราที่ไม่สูงจนเกินไป และเรายังสามารถนำเงินก้อนที่มีไปหาประโยชน์จากการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ แทนได้อีกด้วย

3. ติดโซลาร์เซลล์แล้วจะทำให้เกิดปัญหาความร้อนกับบ้าน หรืออาคาร รวมถึงผลกระทบกับหลังคาบ้าน

จริงๆ แล้ว การติดตั้่งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาบ้าน หรืออาคาร ช่วยลดความร้อนให้กับบ้านได้อีกด้วย เป็นเพราะแผงโซลาร์เซลล์จะรับแสงแดดโดยตรงแทนหลังคาบ้านนั่นเอง ส่วนปัญหาเรื่องหลังคาบ้านจะพัง หรือส่งผลกระทบอื่นๆ อันนี้บอกเลยว่า ก่อนจะติดตั้งจะมีการประเมินหลังคาก่อนแล้วว่ามีความเหมาะสมในการติดตั้งหรือไม่ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อหลังคาในระยะยาว

4. แผงโซลาร์เซลล์มีอายุสั้น ใช้ไปสักพักก็ต้องเปลี่ยน

ตามสเปคของแผงโซลาร์เซลล์นั้น ระบุเอาไว้ว่า สามารถใช้งานได้นานหลายปี บางรุ่นใช้นานได้ถึง 25 ปีแบบเต็มประสิทธิภาพ หลังจากนั้นก็จะมีประสิทธิภาพลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่การดูแลบำรุงรักษาด้วย ตามคำแนะนำของผู้ให้บริการติดตั้่ง แจ้งเอาไว้ว่าควรจะมีการตรวจสอบแผง และทำความสะอาดกันทุกๆ ปี ซึ่งผู้ให้บริการติดตั้งหลายเจ้าก็จะมีแถมบริการนี้ให้ฟรี ในปีแรกด้วย

Photo : freepik

ครม. พับแผนโครงการโซลาร์รูฟภาคประชาชน กรณี Net Metering ที่ให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบค่าไฟในเดือนถัดไป หลังผลศึกษาพบปัญหาหลายเรื่อง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน กรณีที่ให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป (Net Metering)

โดยผลการศึกษาสรุปว่าประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ระบบ Net Metering ได้แต่รัฐบาลยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิม คือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือดังกล่าวขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท

ทั้งนี้หากในอนาคตมีการติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมจะศึกษาถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มเติม

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

กระทรวงพลังงาน รายงานว่า ผลการศึกษาถึงประเด็นข้อขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป สรุปได้ดังนี้

1. ด้านระเบียบและข้อกฎหมาย การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนและการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งธุรกรรมการซื้อและการขายโดยการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น หากจะคำนวณภาษีของการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องขอยกเว้นมูลค่าฐานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจพิจารณาของอธิบดีกรมสรรพากร
 

2. ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุลเนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานลดลง

ทั้งนี้ หากมีการผลิตไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบโครงข่ายเป็นจำนวนมากจะต้องเปลี่ยนขนาดและพิกัดของอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 

รวมถึงต้องมีระบบควบคุมและบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวม และยังเพิ่มภาระแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง Solar Rooftop ที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์มิเตอร์เป็นแบบดิจิทัลมิเตอร์เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้

3. ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม พบว่า ด้านต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะแปรผันไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้ง Solar Rooftop 

ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop จะถูกกระจายกลับไปสู่ค่า FT และยังเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ผลการศึกษาในประเด็นให้ประชาชนสามารถส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไปนั้น มีข้อขัดข้องในด้านระเบียบข้อกฎหมาย ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม ได้แก่ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า วิธีการนำปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า และต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จึงไม่สามารถดำเนินการได้ 

ด้วยเหตุนี้จึงยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาแบบเดิม และหากในอนาคตมีการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมจะศึกษาถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มเติมต่อไป

Source : ฐานเศรษฐกิจ

ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการใช้ พลังงานสะอาด เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่หลายคนเจอกับ ค่าไฟ แสนแพง ทำให้เริ่มตื่นตัวกับพลังงานจาก แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ หลายคนคงสงสัยแล้วตลาดโซลาร์เซลล์ของไทยนั้น ใหญ่ ขนาดไหน และมีโอกาสให้สอดแทรกอย่างไรได้บ้าง

มองสถานการณ์พลังงานสะอาดโลก

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) มองว่า ปีนี้กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงาน และภาครัฐที่บังคับใช้นโยบาย โดย พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม จะเป็น ตัวขับเคลื่อนหลัก ที่ทำให้พลังงานสะอาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ กำลังผลิตพลังงานทดแทนทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 107 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยคาดว่าในปีหน้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะแตะ 4,500 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งเทียบเท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าของจีนและสหรัฐอเมริการวมกัน

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุว่า โซลาร์เซลล์ จะเพิ่มขึ้นราว 2 ใน 3 และคาดว่าจะยังมีการเติบโตต่อเนื่องในปี 2024 เนื่องจากราคาค่าไฟของโลกเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้คนเริ่มหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่ พลังงานลม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

โซลาร์เซลล์ไทยมีเพียง 3,000 เมกะวัตต์

สำหรับสถานการณ์ด้านพลังงานสะอาดของไทยนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ ประธานที่ปรึกษา สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าใหม่กรอบปี 2018-2025 อยู่ที่ 20,343 เมกะวัตต์ เป็นส่วนแบ่งของ โซลาร์เซลล์ 3,000 เมกะวัตต์ มากสุดในกลุ่ม ตามด้วย กังหันลม 1,500 เมกะวัตต์

ส่วนกรอบปี 2018-2037 จะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ เป็นส่วนแบ่งของพลังงานสะอาดรวมโซลาร์เซลล์และกังหันลม 18,833 เมกะวัตต์

“เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เฉลี่ยวัตต์ละ 80 บาท แต่ปัจจุบันเหลือ 10 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลที่แนวโน้มมีแต่จะสูงขึ้น ดังนั้น ต่อไปไม่มีทางจะหนีพ้นการใช้พลังงานสะอาด และไม่มีอะไรจะชนะพลังงานแสงอาทิตย์และลมได้”

โอกาสมากกว่า 60,000 ล้านบาท

ไววิทย์ อุทัยเฉลิม กรรมการบริหาร บริษัท ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ครบวงจร กล่าวว่า หากนับเฉพาะแผนการผลิตพลังงานของไทย (Power Development Plan : PDP) ที่ต้องการผลิตพลังงานสะอาดให้ได้แตะ 20,000 เมกะวัตต์ คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท ดังนั้น ตลาดโซลาร์เซลล์ของไทยจะมีมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้านแน่นอน

อย่างในส่วนภาค ครัวเรือน มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ติดโซลาร์เซลล์ อย่างเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีครัวเรือนกว่า 3 ล้านหลัง แต่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์อยู่ ไม่ถึง 10% แต่ภายใน 3 ปีจากนี้ คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 20% เพราะผู้บริโภคมีความตื่นตัวมาก หลังจากที่ค่าไฟสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงนโยบายจากทางภาครัฐก็มีการสนับสนุน และธนาคารก็มีการให้กู้เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้วย

“ตอนนี้เดเวลอปเปอร์ก็หันมาติดโซลาร์เซลล์ในโครงการกันหมด มีโปรโมชันใช้ไฟฟรีเพื่อดึงดูดลูกค้า และต่อไปการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็จะเหมือนมือถือ ที่มีราคาถูงลงเรื่อย ๆ ดังนั้นตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก”

ผนึกทงเวย โซลาร์ เบอร์ 1 ของโลก

สำหรับ ซันเดย์ โซลาร์ ล่าสุดได้เป็นตัวแทนจำหน่ายในไทยแต่เพียงรายเดียวของ ทงเวย โซลาร์ แบรนด์ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ (Photovoltaic: PV) ชนิดผลึกซิลิคอนรายใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติจีน ปัจจุบัน ทงเวย เป็นหนึ่งในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีน โดยในปี 2022 มีผลประกอบการรวมประมาณ 783,241 ล้านบาท

ทงเวย มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ 6 แห่งในประเทศจีน ได้แก่ เหอเฟย, ซวงหลิว, เหม่ยซาน, จินถัง, เหยียนเฉิง, หนานทง และที่โครงการทงเหอ มีการส่งออกผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ (modules) ไปยัง 48 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีเหมืองซิลิคอนที่สามารถซัพพลายผนึกซิลิคอนให้กับบริษัทผู้ผลิต PV ชั้นนำ อาทิ Jinko, JA, Cannadian, LONGI, Trina, เป็นต้น

ปัจจุบัน ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ครบวงจรในไทยมีประมาณ 15-20 บริษัท เฉพาะบริษัทที่มีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทใหญ่แบบทงเวยมีไม่ถึง 5 บริษัท ดังนั้น การแข่งขันจึงไม่ได้สูง โดย ซันเดย์ โซลาร์ จะจับลูกค้าองค์กรเป็นหลัก เช่น กลุ่มผู้รับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ลูกค้าธุรกิจ ผู้ประกอบกิจการ โรงงาน สถานประกอบการ และโครงการอสังหาริมทรัพย์

โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ 2,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้า 3 ปี มีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท และภายใน 5 ปีตั้งเป้าโกยรายได้ 10,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนจะรุกตลาดอีวีด้วย อาทิ หัวชาร์จอีวีชาร์จเจอร์ แบตเตอรี่สำหรับรถและโรงงานไฟฟ้า

“เราจะทำหมดเดี่ยวกับพลังงานสะอาด อย่างตลาดอีวีเราก็จะไปแน่แต่ไม่ได้ไปทำสถานีชาร์จ แต่จะนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์แทน”

Source : Positioning Magazine