ข่าวดี ! ของพี่น้องประชาชน และภาคธุรกิจ การประชุมครม.นัดแรกกำลังจะมีการพิจารณา ลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือ 30 บาท/ลิตร ลดค่าไฟ 20 สตางค์ ช่วยเหลือประชาชน

เรื่องการลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือ 30 บาท/ลิตร ลดค่าไฟฟ้าลงอีก 20 สตางค์ เป็นเรื่องที่ประชาชนกำลังจับตามองอย่างมากในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 ที่จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 12 กันยายน 2566 นี้ โดยก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ออกมาประกาศว่าจะลดราคาน้ำมันดีเซล ลดค่าไฟฟ้า ทันทีในการประชุมครม.นัดแรก

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดีเซล ราคาขายปลีกหน้าปั๊มปัจจุบันอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร ซึ่งได้รับสนับสนุนจากกองทุนน้ำมัน 6.43 บาท/ลิตร เสียภาษีสรรพสามิต 6.58 บาท/ลิตร และยังเสียภาษีท้องถิ่นอีก 10 %  ส่วนค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (1 ก.ย.- 31 ธ.ค.66 ) เรียกเก็บอยู่ที่ 4.45 บาท/หน่วย

อย่างไรก็ตามมีคาดการณ์จากผลสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชนว่าหากมีการประกาศลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือ 30 บาท/ลิตร และลดค่าไฟฟ้า 20 สตางค์ ได้จริงในการประชุมครม.นัดแรก จะต้องมีการลดภาษีสรรพสามิตให้เหลือ 4.64 บาท/ลิตร  ลดภาระกองทุนน้ำมันที่ยังติดลบอยู่ จึงจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเหลือ 30 บาท/ลิตร ได้

ต่อมา คือ ค่าไฟ คาดว่าจะมีการลดลงอีก 0.20 บาท/หน่วย เหลือ 4.25 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นความต้องการของภาคธุรกิจจากการสำรวจความคิดเห็น ส่วนประชาชนต้องการให้ลดเหลือ 4.20 บาท/หน่วย โดยหลักการที่จะลดค่าไฟฟ้าได้ คือการยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

พร้อมกันนี้จะพามาฟังจากปากของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และว่าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ยืนยันว่าจะมีการปรับลดจริง แต่ตัวเลขการปรับลดทั้งลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือ 30 บาท/ลิตร และลดค่าไฟฟ้า 20 สตางค์ ตามที่เป็นข่าวเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับของจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอกระบวนการครม.เคาะอีกทีในเร็วๆนี้ โดยแผนงานทั้งหมดเป็นการเร่งแก้ไขความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน และภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบ

นายจุลพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลไกที่จะปรับลดราคาน้ำมันดีเซลต้องใช้การลดภาษีสรรพสามิต และปรับลดภาระกองทุนน้ำมันลงให้ได้ หากจะปรับโครงสร้างกองทุนน้ำมันระยะยาวก็ต้องรื้อโครงสร้างเดิมก่อนให้ได้ทั้งกระดาน รวมถึงการควบคุมภาษีท้องถิ่น และค่ากลั่นต่างๆหน้าโรงกลั่นด้วย

Source : Spring News

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุหนี้น้ำมันและก๊าซหุงต้ม(LPG) กว่า 1 แสนล้านบาท ที่กองทุนน้ำมันฯ ใช้ตรึงราคาช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤติราคาพลังงานแพงเมื่อปี 2565 คาดจ่ายคืนผู้ค้า ม.7 ได้หมดภายในเดือน ก.ค. 2566 เนื่องจากที่ผ่านมาทยอยชำระคืน จนปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น พร้อมชะลอการกู้เงินเฟส 2 เหลือเพียง 25,000 ล้านบาท จากเป้าหมายจะกู้ 40,000 ล้านบาท เหตุกองทุนฯ เริ่มมีสภาพคล่องสูงขึ้น   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤติราคาพลังงานเมื่อปี 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อช่วยเหลือประชาชน จนทำให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นหนี้ผู้ค้าน้ำมันและก๊าซ LPG รายใหญ่ หรือ ผู้ค้า ม. 7 รวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ทยอยชำระหนี้มาโดยตลอด จนปัจจุบันเหลือหนี้รวม 11,712 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้น้ำมันอยู่ 4,846 ล้านบาท และหนี้ LPG อีก 6,866 ล้านบาท

ทั้งนี้ สกนช.คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้หมดภายในสิ้นเดือน ก.ค. 2566 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ที่เกิดจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและLPG ในช่วงวิกฤติพลังงานที่ผ่านมาจบสิ้นลง คงเหลือเพียงหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นหนี้อยู่ประมาณ 55,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวกองทุนน้ำมันฯ ก็จะทยอยชำระดอกเบี้ยตามรอบการกู้เงิน โดยปลอดการชำระเงินต้น 1 ปี

สำหรับเงินกู้จากสถาบันการเงินดังกล่าว ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะกู้จริงประมาณ 110,000 ล้านบาท โดยรอบแรกได้กู้และใช้เงินหมดแล้ว 30,000 ล้านบาท และรอบ 2 มีกรอบวงเงินกู้ 80,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายจะกู้รวม 40,000 ล้านบาทก่อน แต่เมื่อทำการกู้เงินจริงกลับกู้เพียง 25,000 ล้านบาท เนื่องจากพบว่าสถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวดีขึ้นและทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้า จนเริ่มมีสภาพคล่องทางการเงิน จึงลดการกู้เงินดังกล่าวลง

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีสถานะติดลบอยู่ แม้จะเริ่มมีเงินไหลเข้ามาบ้างแล้วก็ตาม ประกอบกับต้องเตรียมความพร้อมรองรับการปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร หากกระทรวงการคลังกลับมาเก็บภาษีดีเซลตามเดิมหลังหมดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในวันที่ 20 ก.ค. 2566 นี้ 

ซึ่งการจะกู้เงินกับสถาบันการเงินนั้นจะต้องดำเนินการภายในวันที่ 5 ต.ค. 2566 เท่านั้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมากำหนดให้กองทุนฯ กู้เงินได้ภายใน 1 ปี ระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2565- 5 ต.ค. 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้กู้ไปแล้วรวม 55,000 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินกู้ได้อีก 95,000 ล้านบาท ดังนั้นหากพิจารณาสถานะการเงินกองทุนฯ และแผนการใช้เงินแล้ว หากจำเป็นต้องกู้เงินอีก ทาง กบน.จะต้องวางแผนการกู้เงินให้ทันก่อนครบกำหนด 5 ต.ค. 2566

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ที่รายงานโดย สกนช. ล่าสุด ณ วันที่ 9 ก.ค. 2566 พบว่า กองทุนฯ ยังคงติดลบอยู่ -52,270 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบอยู่ -6,598 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ -45,672 ล้านบาท    

โดยกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าประมาณ 357 ล้านบาทต่อวัน เป็นเงินที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์รวม 78.86 ล้านบาทต่อวัน, เงินเรียกเก็บจากผู้ใช้และผู้ค้า LPG 22.74 ล้านบาทต่อวัน และเงินเรียกเก็บจากผู้ใช้ดีเซล 257.71 ล้านบาทต่อวัน

Source : Energy News Center

กระทรวงพลังงาน คาดสิ้นปี 2566 มีผลชัดเจนว่าประชาชนจะเลือกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ แก๊สโซฮอล์ 95 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซินของประเทศ จากนั้นมีเวลา 9 เดือนเริ่มดำเนินการลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในปั๊มลง พร้อมขีดเส้นตายยกเลิกชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลทุกชนิดภายใน 24 ก.ย. 2567 แต่กฎหมายยังเปิดช่องให้เสนอ ครม. ขอขยายเวลาไปได้อีก 2 ปี หากดำเนินการไม่ทัน โดยขึ้นกับรัฐบาลใหม่จะตัดสินใจ ด้านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ยังคงเดินหน้าเป้าหมายถ่างราคาแก๊สโซฮอล์ E20 ให้ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ถึง 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันต่างกันอยู่ 2.31 บาทต่อลิตร หวังประชาชนเลือกใช้ แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นหลัก  

กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2566 นี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนปรับลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันลง โดยจะเหลือเพียงน้ำมันพื้นฐานสำหรับดีเซลและเบนซินอย่างละ 1 ชนิด ส่วนน้ำมันชนิดอื่นจะเป็นเพียงน้ำมันทางเลือกเท่านั้น ซึ่งแต่ละปั๊มจะต้องมีน้ำมันพื้นฐานดีเซลและเบนซินจำหน่ายตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ ส่วนน้ำมันทางเลือกจะมีจำหน่ายหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan) ที่กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลในขณะนี้

เบื้องต้นกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อแผน Oil Plan ดังกล่าว โดยสาระสำคัญอยู่ที่การพิจารณาเลือกชนิดน้ำมันพื้นฐานของกลุ่มเบนซินไว้เพียงชนิดเดียว ระหว่างแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ แก๊สโซฮอล์ 95 ส่วนดีเซลจะไปพิจารณาในด้านการกำหนดสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในน้ำมันดีเซลทุกลิตรแทน

โดยปลายปี 2566 นี้จะมีความชัดเจนว่าจเลือกน้ำมันใดเป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ และจากนั้นกระทรวงพลังงานมีเวลา 9 เดือน เพื่อดำเนินการลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันลง และให้เสร็จก่อนวันที่ 24 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กฎหมายกำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องดำเนินการยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมจากพืชพลังงาน ทั้งกลุ่มแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล 

อย่างไรก็ตามขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำลังพยายามสร้างส่วนต่างราคาระหว่าง แก๊สโซฮอล์ E20 ให้มีราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 3 บาทต่อลิตร เพื่อผลักดันให้ประชาชนหันไปใช้ แก๊สโซฮอล์ E20ให้มากที่สุด โดย ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2566 ราคาแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.25 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาต่างกันอยู่ 2.31 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันฯ ยังสร้างส่วนต่างราคาไปไม่ถึง 3 บาทต่อลิตร เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ ยังประสบปัญหาสภาพคล่องบัญชีกองทุนฯ ติดลบถึง 63,376 ล้านบาท

ทั้งนี้หากในอนาคตประชาชนตัดสินใจที่จะเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน แก๊สโซฮอล์ E20 เมื่อถึงเวลานั้น ทางกองทุนฯ ก็พร้อมจะปรับทิศทางกระชากราคาให้คนส่วนใหญ่หันกลับมาใช้ แก๊สโซฮอล์ 95 ให้มากที่สุดแทน เพื่อให้แผนการปรับลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศประสบความสำเร็จ และเป็นไปตามกฎหมายยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในที่สุด

อย่างไรก็ตามหากเงื่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้ ไม่สามารถยกเลิกการชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลได้ทัน ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) จะต้องทำเรื่องขออนุมัติขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี หรือภายใน 24 ก.ย. 2569 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาอนุมัติต่อไป 

แต่การขออนุมัติขยายเวลาดังกล่าวจะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้ยกเลิกการชดเชยราคามาตั้งแต่ 24 ก.ย. 2565 แต่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถขอขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี โดยที่ผ่านมา สกนช. ได้ขอขยายเวลามา 1 ครั้งแล้ว โดย ครม.อนุมัติให้ขยายเวลาการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถึงวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้  

ดังนั้นปัจจุบัน สกนช. ยังยืนยันว่า ภายในวันที่ 24 ก.ย. 2567 จะเป็นวันสุดท้ายของการชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล จากนั้นจะต้องยกเลิกการชดเชยราคาทั้งหมด และราคาต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนจะมีการขอต่ออายุไปอีก 2 ปี เพื่อชะลอการยกเลิกชดเชยราคาหรือไม่นั้น ต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณาต่อไป

Source : Energy News Center

โล่งอก ราคาน้ำมันปี 2566 อาจไม่ผันผวนมาก สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เผยว่า กองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันติดลบลดเหลือเพียง 72,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ติดลบกว่า 1.3 แสนล้านบาท จับตา ! 4 มิ.ย. 66 โอเปกจะลดกำลังผลิตหรือไม่

เรื่องราคาน้ำมันแน่นอนว่ามีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และภาคธุรกิจ เพราะหากราคาน้ำมันผันผวนก็จะส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภค บริโภค อย่างแน่นอน ล่าสุดนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันมีเก็บค่าชดเชยพลังงานที่เข้าไปอุดหนุนมากขึ้นตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น แต่…ปัจจุบัน พบว่า กองทุนสามารถเก็บเงินเข้าคืนกองทุนได้แล้วทำให้เหลือติดลบลดลงเหลือ 72,000 ล้านบาท

ส่วนถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันไม่ผันผวนเหมือนปี2565 ที่ผ่านมา ที่ก่อนหน้านี้สูงสุดอยู่ที่135 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งปัจจุบันอยู่ 90 เหรียญ นับได้ว่าเป็นราคาน้ำมันที่ไม่สูง ส่งผลดีต่อกองทุนน้ำมันที่ได้นำเงินส่วนนี้มาเสริมสภาพคล่อง พร้อมกันนี้ได้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะอยู่ที่ประมาณ 88-90 เหรียญสหรัฐ น้ำมันดูไบอยู่ที่ 73 เหรียญ ราคาไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมา

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดเหลือ 72,000 ลบ.

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดเหลือ 72,000 ลบ. 

สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศที่มีนโยบายลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันมีราคาต้นทุนที่ 21 บาทต่อลิตร ส่วนตัวมองว่าการลดราคาน้ำมันต้องมีการถอดภาษีท้องถิ่น ภาษีสรรพสามิต ให้เหลือค่าการตลาดให้ผู้ประกอบการดำเนินงานต่อไป ซึ่งจะเหลือลิตรละ 25 บาท จากเดิม 32 บาท ทั้งนี้จะทำให้ประเทศจะขาดรายได้ภาษี

อย่างไรก็ตามในส่วนของการจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันที่เก็บเข้ากองทุนอยู่ขณะนี้อยู่ที่ 5.23 บาท จะต้องดูวินัยการเงินการคลังประกอบด้วย เพราะจะทำให้เจ้าหนี้ไม่ซื้อน้ำมันมากลั่นขาย เหมือนกับหลายประเทศที่ประสบปัญหาน้ำมันแพง นอกจากนี้รัฐบาลใหม่กองทุนน้ำมันต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ด้วย และต้องจับตา! 4 มิ.ย. 66 โอเปกจะลดกำลังผลิตหรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกแน่นอน

Source: Spring News

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มกู้เงินอีกครั้ง ประเดิม 5 พันล้านบาท ตั้งเป้ากู้ครบ 2 หมื่นล้านบาทภายในเดือน เม.ย. 2566 นี้ ระบุแม้กองทุนฯ เริ่มติดลบต่ำกว่าหลักแสนล้าน แต่ยังมีหนี้ต้องชำระผู้ค้ามาตรา 7 อีก 7 หมื่นล้านบาท และใช้เสริมสภาพคล่องชดเชยราคา LPG ต่อไป ชี้ล่าสุดกองทุนฯ ติดลบ 89,800 ล้านบาท แต่ยังมีเงินไหลเข้า 345 ล้านบาทต่อวัน จากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทุกชนิดตั้งแต่ 0.01-8.58 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 4.19 บาทต่อลิตร

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้เริ่มกระบวนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ทำเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงินไป 5,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการกู้เงินในเดือน เม.ย. 2566 ทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะทยอยกู้เงินจนครบตามเป้าหมายดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีสถานะติดลบ จากการนำเงินไปพยุงราคาดีเซลตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันสถานการณ์กองทุนฯ จะเริ่มดีขึ้นโดยติดลบน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท แต่กองทุนฯ ก็ยังต้องชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และนำเงินไปเสริมสภาพคล่องการชำระหนี้ที่ต้องจ่ายผู้ค้ามาตรา 7 รวม 70,000 ล้านบาท (ข้อมูลจนถึง ณ วันที่ 9 เม.ย. 2566  )  

โดยล่าสุดสถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 9 เม.ย. 2566 กองทุนฯ ติดลบรวมทั้งสิ้น 89,800 ล้านบาท โดยเป็นการติดลบของบัญชีน้ำมัน 42,921 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 46,879 ล้านบาท แต่เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ หันกลับมาเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลกลับคืนกองทุนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าถึงวันละ 345 ล้านบาท ส่วนเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 26.36 ล้านบาทต่อวัน

สำหรับภาพรวมการกู้เงินนั้น ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กู้เงินได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และกู้ภายในวันที่ 5 ต.ค. 2566 นี้เท่านั้น ซึ่งการที่กองทุนฯ จะเริ่มกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ จะต้องรอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ทยอยบรรจุเป็นกรอบวงเงินหนี้สาธารณะก่อน

ที่ผ่านมา สบน.ได้บรรจุวงเงินหนี้สาธารณะไป 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรอบแรก 30,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯ ได้นำไปชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 หมดแล้ว และรอบที่สองอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินก้อนนี้กำลังอยู่ระหว่างทยอยกู้กับสถาบันการเงิน ที่ตั้งเป้าหมายจะกู้ 20,000 ล้านบาทในเดือน เม.ย. 2566 ก่อน อย่างไรก็ตามกองทุนฯ ยังเหลือวงเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท ก็จะครบ 1.5 แสนล้านบาทตามที่ ครม. ให้กรอบวงเงินไว้ ซึ่ง กองทุนฯ ยังสามารถขอให้ สบน.บรรจุเป็นหนี้สาธารณะได้อีก ก่อนครบกำหนด 5 ต.ค. 2566 นี้

ส่วนการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งคืนกองทุนฯ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ ลงเหลือ 4.19 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 4.41 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียม ถูกเรียกเก็บ 5.69 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันโลกผันผวน สำหรับกลุ่มเบนซินนั้น กบน.ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ น้ำมันเบนซิน เรียกเก็บ 8.58 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เรียกเก็บ 2 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เรียกเก็บ 0.01 บาทต่อลิตร

สำหรับค่าการตลาด  ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในวันที่ 11 เม.ย. 2566 พบว่าค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1.80 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 2.20 บาทต่อลิตร โดยยังอยู่ในเกณฑ์ค่าการตลาดปกติ ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 ได้มีมติคืนค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันให้กลับมาอยู่อัตราปกติประมาณ 1.80-2 บาทต่อลิตร หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือให้คงค่าการตลาดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ในช่วงราคาพลังงานแพง

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 11 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 15.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 84.99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 80.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 84.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

Source : Energy News Center