ตอนนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นยุคนี้จึงเป็นเหมือนการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ

พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy เป็นพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นพลังงานที่ใช้ไม่หมดซึ่งแหล่งที่มาของพลังงานกำเนิดมาจากธรรมชาติรอบตัวเรา อย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ รวมถึงผลผลิตและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย กากมันสำปะหลัง หรือมูลสัตว์ ก็สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี 

UN กระตุ้นเร่งเครื่องพลังงานหมุนเวียน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนสายเกินไป

เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอย่าง พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าพลังงานฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ซึ่งตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเป็นอยู่ของมนุษย์

UN กระตุ้นเร่งเครื่องพลังงานหมุนเวียน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนสายเกินไป

นาย António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดของมนุษย์ท่ามกลางวิกฤตโลกร้อน หากไม่มีการหมุนเวียนพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ก็จะอนาคตที่ดีจะไม่มีอย่างแน่นอน  

องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้เปิดแนวทางการเร่งเครื่องพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้เร็วที่สุด ดังนี้

  • เปลี่ยนเงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียน

เงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลมีสัดส่วนเป็นเงินจำนวนมหาศาล ทาง UN กล่าวว่าควรหันมาลงทุนด้านพลังานหมุนเวียนให้มากขึ้นเพื่อลดพลังงานฟอสซิล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างงาน คุณภาพชีวิตดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยากจน

  • พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและกระจายสู่สาธารณะให้ทั่วถึง

การพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนควรมีการเร่งคิดค้นพัฒนา และที่สำคัญต้องกระจายสู่สาธารณะ กล่าวคือ พลังงานหมุนเวียนควรเป็นสินค้าสาธารณะ ทำให้ทุกคนและทุกภาคส่วนเข้าถึงได้

  • พัฒนาความรู้และทักษะผู้ใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

พลังงานหมุนเวียนมีการใช้แร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบในการผลิตพลังงาน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรมีการนำวัตถุดิบที่ใช้ผลิตพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างมีอย่างรู้คุณค่า รวมถึงพัฒนาทักษะผู้ใช้เทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยพลังงานหมุนเวียนควรมีให้มากขึ้น

ที่มา : United Nations / EGAT

ภาพ : pexels

Source : Spring News

บี.กริม เพาเวอร์​ เผย​ 9​ บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน​ ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียน” ให้รัฐ​ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบFeed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง​ จำนวน 15 โครงการ​ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 339.3 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569-2573

โดย 9 บริษัทดังกล่าว แบ่งเป็นบริษัทย่อย 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สมาร์ท คลีน ซิสเท็ม 1 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์

บริษัท สมาร์ท คลีน ซิสเท็ม 5 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์

บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 88 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 6.3 เมกะวัตต์ บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 111 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนจำนวน 4 บริษัท ซึ่ง บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 40% ของทุนจดทะเบียน และบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้น 60% ประกอบด้วย บริษัท ซีแอลพี พาวเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ บริษัท ซีเอ็มที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ บริษัท โวลต์ซิงค์ โซลูชั่น จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 108 เมกะวัตต์ และบริษัท พาวเวอร์ ซี.อี. จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 129 เมกะวัตต์

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ GreenLeap-Global and Green ของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกพลังงาน และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ด้วยการจัดหาพลังงานที่มีเสถียรภาพ สามารถเข้าถึงได้และสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (ปี พ.ศ. 2593) ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately)

ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์​ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3,338 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2565 เป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2573 โดยมองหาการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลกกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 3,477.8 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่มีสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเปิดดำเนินการ 577.6 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกำลังการผลิต 339.3 เมกะวัตต์ ที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ จะทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ มีกำลังการผลิตที่ได้รับการยืนยันแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา รวม 4,394.7 เมกะวัตต์

Source : Energy News Center

4​ พรรคการเมืองเปิดตัวทีมเศรษฐกิจ​ให้เห็นโฉมหน้ากันแล้ว​ทั้ง​ เพื่อไทย​ ก้าวไกล​ รวมไทยสร้างชาติ​ และพลังประชารัฐ​

ถ้าจับประเด็นเฉพาะเรื่องพลังงาน​ มี​ 3​ รายชื่อที่มีประสบการณ์​ในการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน​ ได้แก่​ พรรคเพื่อไทย​ นายแพทย์​พรหมินทร์​ เลิศสุรีย์เดช​ เคยดำรงตำแหน่ง​ ช่วง​ ก.พ.2546-มี.ค.2548​ สมัยรัฐบาลทักษิณ​

คนที่สอง​ พรรคพลังประชารัฐ คือนายสนธิรัตน์​ สนธิจิรวงศ์​ ดำรงตำแหน่ง​ ช่วง​ ​ก.ค​.2562-15 ก.ค. 2563​ สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ และพรรครวมไทยสร้างชาติ​ นายสุพัฒนพงษ์​ พันธ์มี​เชาว์​ ดำรงตำแหน่งช่วง​ ส.ค.2563​ จนถึงวันยุบสภา​ 20​ มี.ค.2566​ และปัจจุบันยังคงรักษาการอยู่

ส่วนทีมเศรษฐกิจ​ของพรรคก้าวไกล​ ได้ผู้ที่มีประสบการณ์​คลุกคลีอยู่ในแวดวงพลังงานโดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้า​ ในบทบาทของนักวิชาการ​ มายาวนาน คือ​ อาจารย์​เดชรัต สุขกำเนิด​

นายแพทย์​พรหมินทร์​ เลิศสุรีย์เดช​ พรรคเพื่อ​ไทย​

สำหรับพรรคเพื่อไทย​ ที่เชื่อกันว่าจะได้คะแนนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร​เป็นอันดับหนึ่ง​ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงและมีโอกาสสูงว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล​ นั้นชูนโยบายหาเสียงเรื่องพลังงาน​ ว่าจะลดราคาค่าไฟ​ฟ้า ค่าน้ำมัน​ ค่าแก๊ส​ ทันที​ ที่ได้เป็นรัฐบาล​ ถามว่าจะทำได้อย่างไร​ ก็ตอบว่า​ทำได้ทันทีในส่วนของน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซิน​ ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิต​ หรือลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน​ โดยที่กองทุนน้ำมันจะยังคงมีฐานะติดลบอยู่ต่อไปก่อน​ จาก​ ณ​ วันที่​ 19​ มี.ค.2566​ กองทุนมีฐานะติดลบ​ อยู่​ 9.7 หมื่นล้านบาท​

ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์​กองทุนน้ำมัน​ นั้นก็เคยติดลบสูงถึง​ 9.2 หมื่นล้านบาท​ ในช่วงที่นายแพทย์​พรหมินทร์​ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ เพราะมีนโยบายการตรึงราคาทั้งเบนซินและดีเซล​ แต่ก็มาถูกทำลายสถิติโดยสิ้นเชิง​ ในสมัยของนายสุพัฒนพงษ์​ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ ที่​ตัวเลขติดลบพุ่งสูงถึง​ 1.3​แสนล้านบาท​ จากนโยบายการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ยาวนานเช่นเดียวกัน

สำหรับเรื่องของค่าไฟฟ้านั้น​ ในการคำนวณค่าเอฟที​ งวดเดือน​ พ.ค.-ส.ค.​ 2566​ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ หรือ กกพ.​เคาะตัวเลขออกมาแล้วว่า​ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น​ 4.77​ บาทต่อหน่วยจากงวดก่อนหน้า​ ซึ่งอยู่ที่​ 4.72​ บาทต่อหน่วย​

โดยเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่​ ส.ค.2566​ ค่าเอฟที​ สำหรับงวด​ ก.ย.-ธ.ค.2566​ ก็น่าจะปรับลดลงได้​ โดยไม่ต้องออกแรงบริหารจัดการอะไรมาก​ เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนหลัก​คือก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มที่จะลดลง​ เพราะผลิตก๊าซจากอ่าวไทย​ที่มีราคาถูกกว่า​ LNG​ นำเข้าได้เพิ่มมากขึ้น

สนธิรัตน์​ สนธิ​จิรวงศ์​ พรรคพลังประชารัฐ

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ​ ก็มีนโยบายการหาเสียงที่จะลดราคาทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นเดียวกัน​ ซึ่งก็คงใช้กลไกที่ไม่แตกต่างกันกับพรรคเพื่อไทยมากนัก​

และถ้ายังจำกันได้​ สมัยที่นายสนธิรัตน์​ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ ก็มีนโยบายให้ ​กกพ.​นำเงินบริหารค่าเอฟที​ มาใช้จนหมดหน้าตัก​ กว่า​ ​2​ หมื่นล้านบาท​ เพื่อช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชนลดผลกระทบภาครัวเรือนที่ต้อง​Work​ From​ Home​ ช่วงโควิด-19

สุพัฒนพงษ์​ พันธ์​มี​เชาว์​ รวมไทยสร้างชาติ

ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ​ ที่ทีมเศรษฐกิจ​คือ​นายสุพัฒนพงษ์​ ก็คงจะเห็นผลงานการตรึงราคาทั้ง ดีเซล ก๊าซหุงต้ม​ กันแบบหลังแอ่น​ หนี้ท่วมทั้งกองทุนน้ำมัน​ และ กฟผ.​ เพราะเจอจังหวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ​ ทั้ง​สงครามรัสเซีย-ยูเครน​ และ​ เศรษฐกิจ​ที่ชะลอตัวจากผลพวงของโควิด-19​

ส่วนภาคไฟฟ้า​ ผลงานที่เด่นชัดคือการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบล็อตใหญ่​ 2​ ล็อต​ ล็อตแรก​ 5,200​เมกะวัตต์​และล็อต​สอง​ อีก​ 3,600 เมกะวัตต์​ นัยว่าเพื่อปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงให้ตอบโจทย์เรื่องการลดก๊าซคาร์บอน​ตามเทรนด์โลก​ ท่ามกลางข้อกังขาของ​ พรรคก้าวไกล​ เรื่องสำรองไฟฟ้าล้นระบบ​ ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น​

และนโยบายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำไว้คือประเด็นที่พรรคก้าวไทย​ อาสาจะเข้ามาแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน​ ป้ายหาเสียงของพรรคก้าวไกล เขียนว่า หยุดเอื้อทุนใหญ่ค่าไฟฟ้าลด​ ​70​ สตางค์​

เดชรัต​ สุข​กำ​เ​นิด​ พรรคก้าวไกล

โดยอาจารย์เดชรัต อภิปรายในเวทีที่จัดโดย​ คปพ.​ ว่า​ นโยบายด้านพลังงานที่พรรคก้าวไกล​จะดำเนินการ เรื่องหลักๆคือ​ค่าไฟฟ้า​ จะมีการเข้าไปปรับสูตรราคาก๊าซ​ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า​เพื่อให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซราคาถูกเหมือน ภาคอุตสาหกรรม

การเข้าไปปรับลดภาระค่าความพร้อมจ่าย​ โดยเจรจากับโรงไฟฟ้าเก่า​ ที่เป็นโรงไฟฟ้าไม่มีประสิทธิภาพและใกล้จะหมดอายุ

ที่น่าสนใจคือการหยุดข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้​า เพิ่มเติม​ ในโรงใหม่​ เพราะประเทศมีสำรองไฟฟ้าล้นเกิน​ การปรับพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่​ ไม่ให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง รวมทั้ง​ การยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด​ภายในปี​2578

นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมไฟฟ้าจากโซลาร์​เซลล์​ และระบบ​ Net​ Metering เพื่อให้การซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์​เซลล์ของภาคประชาชนมีความคล่องตัวและเป็นธรรมมากขึ้น​

ได้เห็นทิศทางนโยบายด้านพลังงานจาก​ 4​ พรรคการเมืองกันพอสังเขป​แล้ว​ จากนี้ก็อยู่ที่ว่า​ หลังการเลือกตั้ง​เดือน​ พ.ค.2566​ พรรคไหนจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล​ และจะส่งใครมาเป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ นโยบายของพรรคนั้นจึงจะมีโอกาสนำไปสู่ภาคปฏิบัติ​ได้

ที่สำคัญคือ อย่าใช้นโยบายที่ท้ายที่สุดประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องรับภาระไปมากกว่านี้เลย

Source : Energy News Center

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) สรุปยอดผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 รวม 670 โครงการ ปริมาณ 17,400.41 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อ 5,203  เมกะวัตต์ โดยผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP ประเภทโซลาร์ฟาร์มยื่นเสนอสูงสุด 381 โครงการ 2,066 เมกะวัตต์  และกลุ่มเสนอขายไฟฟ้าก๊าซชีวภาพต่ำสุดเพียง 2 โครงการ 6.50 เมกะวัตต์  การไฟฟ้าเตรียมประกาศผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ 9 ธ.ค. 2565 นี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า การยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าและยืนยันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าพร้อมเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติและข้อมูลความพร้อมทางด้านเทคนิคพร้อมเอกสารหลักฐานผ่านระบบ RE Proposal (ระบบ REP) ซึ่งเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2565 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2565 เวลา 12.00 น. รวม 22 วัน ที่ผ่านมานั้น ภายหลังสำนักงาน กกพ. ได้ปิดระบบ REP แล้ว มีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า รวม 670 โครงการ แบ่งเป็น (1) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และ (2) ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 17,400.41 เมกะวัตต์ จากการเปิดรับซื้อทั้งหมดรวม 5,203 เมกะวัตต์

โดยกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ได้แบ่งการเสนอขายไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิงดังนี้ 1. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) มีผู้เสนอขายไฟฟ้า 52 โครงการ รวม 2,171.19 เมกะวัตต์  2.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 141 โครงการ จำนวน 7,537.71 เมกะวัตต์ และ3. พลังงานลม เสนอขายไฟฟ้า 79 โครงการ รวม 5,509.93 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 272 โครงการ ปริมาณ 15,218.83 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการเสนอขายไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพแต่อย่างใด

2.กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP ได้แบ่งการเสนอขายไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิงดังนี้ 1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) มีผู้เสนอขายไฟฟ้าเพียง 2 โครงการ รวม 6.50 เมกะวัตต์  2.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 381 โครงการ จำนวน 2,066.04  เมกะวัตต์ และ3. พลังงานลม เสนอขายไฟฟ้า 15 โคงการ รวม 109.04  เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 398 โครงการ ปริมาณ 2,181.58  เมกะวัตต์

“ผู้ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าจะต้องยื่นซองคำเสนอขายไฟฟ้า และซองหลักฐานการวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า (Proposal Bond) ให้แก่การไฟฟ้า ภายในวันที่ 30 พ.ย. 2565 เวลา 15.00 น. และยื่นซอง USB Flash Drive ภายในวันที่ 2 ธ.ค. 2565 เวลา 15.00 น. หลังจากนั้นการไฟฟ้าจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าในแต่ละประเภท เพื่อประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติภายในวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ซึ่งผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ไม่ผ่านคุณสมบัติสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์พร้อมเอกสารหลักฐานต่อ กกพ. ได้ภายในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์คุณสมบัติ ภายในวันที่ 11 ม.ค. 2566 และจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th” นายคมกฤช กล่าว

Source : Energy News Center

ในยุคที่การบริโภคเปลี่ยนไป การใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ผลลัพธ์จากการใช้พลังงานมีหลายทิศทาง จึงเกิดการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ของหลาย ๆ ภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การดูแลรักษาสมดุลให้เกิดระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ในความต้องการใช้พลังงานที่หลากหลาย ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ทุก ๆ ความต้องการ? ในความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น ทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตพลังงานไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม? จึงเป็นที่มาของ “พลังงานหมุนเวียน” Renewable Energy (RE) ที่เป็นพลังงานสะอาด 

ทางด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานผู้ผลิตและดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จึงตอบรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตาม “แผนพลังงานชาติ” หรือ “National Energy Plan” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ โดยเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน RE ไม่น้อยกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเองใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง (Prosumer) ดังกล่าว

Grid Modernization สัมพันธ์กับพลังงานหมุนเวียนอย่างไร?

Grid Modernization คือการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม เป็นการร่วมกันพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Green Energy เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ของ กฟผ. ด้วย

ในขณะที่ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของคนไทยยังเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่าการใช้ไฟฟ้าไตรมาสแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ยังมีปริมาณสูงขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ประเมินยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยปี 65 แตะ 6.36 หมื่นคัน เช่นเดียวกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) และไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ที่คาดว่า จะสูงถึง 5.3 หมื่นคัน โตถึง 48% สวนทางกับกระแสรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง (Internal Combustion Engine: ICE) ที่หดตัวจากปี 2564 ถึง 8.8%

เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า  Grid Modernization จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยให้การทำงานของระบบส่งไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ดูแลระบบให้สามารถรองรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าในอนาคตเป็นพลังงานสีเขียวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้มีการขยายแผนงานและสร้างนวัตกรรมให้เกิดการใช้งานจริง หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้
  • มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เปรียบเสมือน Power Bank พลังงานสำรอง เข้าเสริมระบบเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ที่มีทั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) โดยนำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี
  • มีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า มีระบบส่งไฟฟ้าที่สื่อสารข้อมูลกับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะได้ และมีระบบการพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน Renewable Energy Forecast Center, Renewable Energy Control Centerการจัดตั้งศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response Control Center: DRCC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า
  • การพัฒนาสถานีไฟฟ้าแรงสูง Digital Substation เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ โดยเตรียมนำร่องเข้าใช้งานในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้า​แรง​สูง​กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ​ และสถานีไฟฟ้า​แรง​สูง​ตราด จ.ตราด
  • นวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน Virtual Power Plant (VPP) ทำหน้าที่เปรียบเสมือนศูนย์ควบคุมที่รวบรวมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกัน โดยอาศัยการคาดการณ์กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในกลุ่ม และสั่งการผลิตไฟฟ้าโดยนำเอาความได้เปรียบของคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละโรงไฟฟ้ามาเติมเต็มเสริมความมั่นคงซึ่งกันและกัน

และยังมีการจับมือร่วมกับ 3 การไฟฟ้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย เพื่อให้การลงทุนเป็นประโยชน์ที่สุดและไม่เกิดการทับซ้อนกันในการทำงาน ทั้งหมดเพื่อต้องการพัฒนารูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง สนองนโยบายตามแผนพลังงานแห่งชาติและดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนสมาร์ทกริดของประเทศไทย เพราะการผลิตไฟฟ้าต้องรักษาสมดุล และเสถียรภาพ กฟผ. จึงตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจร เพื่อคนไทยทุกคน พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Source : Energy News Center