นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัวบทเพลงพิเศษและมิวสิกวิดีโอ “เธอคือพลังของฉัน” ในโอกาสครบรอบ 45 ปี ปตท. ที่ได้ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินขวัญใจคนไทยทุกวัย และ อิ้งค์-วรันธร เปานิล ศิลปินยอดนิยม ร่วมเป็นตัวแทน ปตท. ถ่ายทอดบทเพลงขอบคุณคนไทย สำหรับพลังใจและการสนับสนุนอันดีที่มีให้กันตลอด 45 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ศิลปินสองวัยระดับแถวหน้าของประเทศที่อยู่ในใจของคนไทยได้ร่วมงานกันเพื่อส่งมอบความสุขให้คนไทย โดยมีผู้บริหาร และพนักงาน ปตท. รวมทั้งผู้บริหาร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าร่วมงานท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุข ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นายอรรถพล กล่าวว่า “การก้าวสู่ปีที่ 45 ของ ปตท. อาจเปรียบเทียบได้กับคนวัยกลางคน ซึ่งถือเป็นวัยที่ต้องมีความรับผิดชอบ และทำหน้าที่สนับสนุนอยู่เคียงข้างกับคนทุกวัย ทั้งคนรุ่นใหญ่ที่ได้ก้าวเดินมาร่วมกัน และคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเติบโตและขับเคลื่อนประเทศไทยไปในอนาคต ถือเป็นความตั้งใจของ ปตท.ที่ให้ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ และ อิ้งค์-วรันธร เปานิล มาร่วมเป็นตัวแทนถ่ายทอดบทเพลงที่มีความหมายพิเศษนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ สามารถรับฟังได้ทางแอปพลิเคชันมิวสิกสตรีมมิ่งชั้นนำ เช่น Plearn Joox พร้อมกับกิจกรรมต่อเนื่องจากบทเพลง อาทิ กิจกรรมร่วมสนุกผ่านคลิปวิดีโอสั้น TikTok เพื่อแสดงความคิดสร้างสรรค์ส่งพลังและความรู้สึกที่ดี การจัดทำเสียงเพลงเรียกเข้าและเสียงเพลงรอสาย Line Melody เพื่อเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณให้กับคนไทย ตลอดจนภาพยนตร์โฆษณาในวาระครบรอบ 45 ปี ที่สื่อสารถึงการสนับสนุนและอยู่เคียงข้างกันของ ปตท. ในฐานะองค์กรพลังงานของไทยที่อยู่ร่วมกับคนไทยตลอดมา ในโอกาสนี้ ปตท. ขอส่งมอบเพลง“เธอคือพลังของฉัน” แทนความรู้สึกขอบคุณ จากผู้บริหารและพนักงาน ปตท. ให้คนไทยทุกคน ด้วยความเชื่อของ ปตท. ยึดมั่นร่วมกับคนไทยในการ จุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต เพื่อจุดพลังความสุขให้กันและกัน และมุ่งสู่อนาคตร่วมกันกับสังคมไทย”

“ปตท. ในฐานะองค์กรพลังงานของไทยได้ดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด 45 ปี พร้อมเป็นพลังสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่สำคัญนี้ ปตท. มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน อาทิ การขยายการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV value chain) ทั้งการจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ ให้บริการเช่าใช้ EV ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยจะมี EV พร้อมให้บริการกว่า 1,000 คัน เพื่อรองรับความต้องการของตลาด และขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้ากว่า 400 หัวจ่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโภชนาการเพื่อสุขภาพ ทั้งการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชครบวงจรและเดินสายการผลิตภายในปีนี้ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ปตท. พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย อาทิ โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนกว่า 45 พื้นที่ใน 29 จังหวัด โดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ของ กลุ่ม ปตท. เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต ใช้นวัตกรรมยกระดับการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเริ่มต้นลงมือปลูกป่าเพิ่มเติม ร่วมกับกลุ่ม ปตท. อีก 2 ล้านไร่ เพื่อเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในปีนี้มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง” นายอรรถพลกล่าว

Source: Energy News Center

สานพลัง ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. เปิดบ้านต้อนรับคนรุ่นใหม่หัวใจพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ในงาน Open House โครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon ร่วมเปิดมุมมองพร้อมรับแรงบันดาลใจการทำธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมชวนปล่อยไอเดียนวัตกรรมทางธุรกิจ ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 540,000 บาท ขยายเวลารับสมัครถึง 2 มิ.ย. ศกนี้

บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. จัดงาน Open House โครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เปิดบ้านต้อนรับนวัตกรรุ่นใหม่ที่สนใจการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมรับฟังรายละเอียดโครงการ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. ในฐานะประธานบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และเปิดมุมมองทิศทางของนวัตกรรมเพื่อสังคม ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท.

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. เผยถึงวิสัยทัศน์และนโยบายการทำงานของกลุ่ม ปตท. ด้านสังคมและความยั่งยืนว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยหนึ่งในการสนับสนุนคือการจัดทำวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาและยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่ง “โครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon” เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้วิสัยทัศน์ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่มที่ผนึกกำลังกับบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เฟ้นหาไอเดียนวัตกรรมจากนวัตกรรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดเเละพลังในการสร้างสรรค์มาช่วยแก้ปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท.

ด้าน นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. ในฐานะ ประธานบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า “สานพลัง” จัดตั้งขึ้นโดยเล็งเห็นจุดแข็งของธุรกิจกลุ่ม ปตท. ในการสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมต้นเเบบ โดยมีโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานผ่านทางสานพลัง เช่น โครงการ Cafe’ Amazon for Chance สร้างอาชีพมอบโอกาสแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส โครงการ Community Coffee Sourcing ช่วยให้เกษตรกรชาวเขาที่ทำไร่กาแฟ มีช่องทางในการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่แน่นอนผ่านร้าน Cafe’ Amazon โครงการ Upcycling SE จัดการขยะพลาสติกครบวงจร รีไซเคิลสู่สินค้าแฟชั่นและของใช้ประจำวัน โครงการชุมชนยิ้มได้ ยกระดับสินค้าชุมชนให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพิ่มรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน และโครงการ SE Solar Energy Business นำร่องที่ตลาดหัวปลี จ.สระบุรี จับมือชุมชนเปลี่ยนแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้มาเป็นพลังงานสะอาด เป็นต้น

ซึ่งในวันนี้สานพลังได้มองเห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน แเละสามารถขยายผลการแก้ปัญหาในวงกว้าง จึงได้ผนึกกำลังกับกลุ่ม ปตท. ในโครงการสานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon เพื่อคัดเลือกสุดยอดไอเดียที่จะสามารถเป็นต้นแบบธุรกิจที่แก้ไขปัญหาสังคมได้ โดยจะสนับสนุนและช่วยปั้นไอเดียธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกับไรส์ (RISE) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร โดยใช้จุดแข็งของกลุ่ม ปตท. ในการสร้างโซลูชันใน 4 โจทย์หลัก ได้แก่ การพัฒนาเมืองยั่งยืน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับฟังเสวนาในหัวข้อ Powering Life with Social Innovations จากผู้นำรุ่นใหม่ที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการพัฒนาสังคม ได้แก่ ด้านการพัฒนาเมืองจาก คุณวริทธิ์ธร สุขสบาย ผู้ร่วมก่อตั้ง Mayday ด้านสิ่งแวดล้อมจาก คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้ง Refill Station ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ จาก คุณชาคริต พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YoungHappy และด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นจาก คุณภัทรารัตน์ ตั้งนิสัยตรง ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการ Roots Incubation Program ดำเนินรายการโดย คุณทลปภร ปัญโยรินทร์ ผู้จัดการทั่วไป Social Enterprise Thailand Association

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ สานพลัง x PTT Group Young Socialpreneur Hackathon จะมีโอกาสร่วมเวิร์กชอปการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมในเชิงธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. และองค์กรพันธมิตรชั้นนำระดับประเทศ ร่วมกับไรส์ มาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดโครงการ ซึ่งหากได้รับคัดเลือกเป็น 4 ทีมสุดท้าย จะมีโอกาสได้รับเงินรางวัลและเงินทุนตั้งต้นในการร่วมกระบวนการทดสอบไอเดียธุรกิจ Proof of Concept (POC) กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมมูลค่ากว่า 540,000 บาท เพื่อพัฒนาไอเดียให้สามารถออกสู่ตลาดพร้อมแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้จริง โครงการฯ เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ – 2 มิถุนายน 2566 ผู้สนใจสามารถสมัครร่วมโครงการได้ที่ https://forms.gle/yMTvnQV5n7ooH1BTA และติดตามข่าวสารกิจกรรมเพิ่มเติมได้ผ่านทาง Facebook: PTT News และ Facebook: สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม

Source : Energy News Center

ปตท. เผยเตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปี 2566 เพิ่มเกือบ 100 ลำเรือ กว่า 6 ล้านตัน ป้อนโรงไฟฟ้าเหตุยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งจากอากาศร้อนจัด และเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้นตัว ระบุ LNG มีราคาถูกแตะ 9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู  มั่นใจส่งผลดีต่อค่าไฟฟ้าไทย ด้านธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เตรียมรุกสู่ธุรกิจใหม่ สร้างความมั่นคงพลังงาน สู่เป้าหมาย Net Zero 

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.ประเมินว่าในปี 2566 นี้ อาจมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เกือบ 100 ลำเรือ หรือประมาณ 6 ล้านตัน จากปัจจุบันที่นำเข้ามาแล้ว 60 ลำเรือ อยู่ที่ 4 ล้านตัน หรือ ลำละ 60,000 ตัน ขณะที่ปี 2565 มีการนำเข้าอยู่ที่ 53 ลำเรือ หรือ ราว 3.3 ล้านตัน โดยการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 นี้ เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ปริมาณนักท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ประกอบกับทิศทางราคา LNG ตลาดจร ( Spot LNG ) ถูกลง คุ้มค่ากว่าการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

โดยล่าสุด ราคา Spot LNG เดือน มิ.ย. 2566 นี้ อยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา บางช่วงราคาสูงสุดอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู และคาดว่าจนถึงปลายปี 2566 นี้ ราคาอาจจะอยู่ที่ประมาณ 15-20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยราคาที่ ปตท.ทำสัญญาซื้อขายไปแล้วนั้นจะไม่เกิน 20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ทั้งนี้ ราคา LNG ที่ต่ำลงเกิดจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) มีการสำรองLNG ไว้ในปริมาณสูงเกินความต้องการของตลาด ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ในงวดถัดไปให้ลดลงได้ 

อย่างไรก็ตาม ปตท.จะนำเข้า LNG ในปี 2566 นี้ถึง 100 ลำเรือตามเป้าหมายหรือไม่ ยังต้องติดตามดูว่า ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยให้เป็นไปตามแผนได้หรือไม่ รวมถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและราคาLNGในอนาคตด้วย ซึ่งการนำเข้า LNG ในแต่ละล็อตจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ด้วย

สำหรับบทบาทของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ในการขยายเครือข่ายทางการค้าให้ครอบคลุมทั่วโลกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด และนำรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์โลกพลังงานที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต ดังนั้นหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจึงมีสำนักงานการค้าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยคาดว่า ปี 2566 นี้ จะมีปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น จากปี 2565 ที่มีปริมาณการค้ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ 

นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การเข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ตามที่กำหนดไว้

นายนพดล ปิ่นสุภา  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ประกอบด้วย ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึง  ธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ซึ่งมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566  คิดเป็น 31% ของกำไรสุทธิของ ปตท. หรือ 8,748 ล้านบาท  ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond พร้อมเติบโตในธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

นายนพดล ปิ่นสุภา  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บนหน้าจอทางซ้าย) 

โดยในช่วงที่ผ่านมา  สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ร่วมลดผลกระทบต่อประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหา LNG แบบตลาดจร (SPOT) ในช่วงเวลาเร่งด่วน จัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก  รวมถึงการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย 

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่าปตท. ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก  โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน(Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. 

“ปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 30%ในปี2573 จากปี 2565 อยู่ที่ 15% โดยปัจจุบันมีการเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตรในหลายธุรกิจ เช่น ความมั่นคงของระบบน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ก็ได้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาว่าจะทำอย่างไรหากเกิดการขาดแคลนน้ำ ทั้งเรื่องการรีไซเคิลน้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมถึงการผันน้ำ การลงทุนระบบท่อน้ำ เพราะกลุ่ม ปตท. มีความต้องการใช้น้ำ เป็นสัดส่วน 30% ของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก”

นอกจากนั้น  ยังมีการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศ ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center  รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงาน ผันผวน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังให้ความสำคัญด้านกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  สายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่ม  กำหนดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย  การก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management Business) รวมถึงแผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. อาทิ  เตรียมการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลงทุนในธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) เป็นต้น

Source : Energy News Center

ปตท. ชี้ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อให้เกิดการจ้างงาน ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ​ ระบุมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นสูงถึง 10 – 25 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีมีการพาดพิงถึงการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนี้

การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสัดส่วนเพียง 20% ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนส่งและครัวเรือนประมาณ 30% และใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 50% ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี ปริมาณสำรอง และปริมาณการผลิตลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก มาทดแทน ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเดียวกัน สำหรับในส่วนที่ต้องจัดหาเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า หรือวัตถุดิบเพิ่มเติมในแต่ละผลิตภัณฑ์จะเป็นไปตามปัจจัยสถานการณ์ตลาดพลังงานโลก และตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย กลุ่ม ปตท. ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อให้เกิดการจ้างงาน ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 10 – 25 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี


นายวุฒิกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตลอดระยะเวลาของวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานในตลาดโลก ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติได้ร่วมแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับปริมาณความต้องการของประเทศทั้งในภาคประชาชน การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท (การช่วยเหลือระหว่างปี 2563 – 2565) เช่น การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเครดิตเทอมแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น โดย ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนอย่างสมดุล”

Source : Energy News Center

กลุ่ม ปตท. จัดงาน PTT Group Tech & Innovation Day ต่อยอดเทคโนโลยีสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วย “นวัตกรรมนำอนาคต” ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.–3 มี.ค. ณ ปตท. สำนักงานใหญ่

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. จัดงาน PTT Group Tech & Innovation Day ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2566   ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต  ภายใต้แนวคิด “Beyond Tomorrow: นวัตกรรม นำอนาคต” เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทิศทางกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการลงทุนด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ตลอดจนสร้างการรับรู้ทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต

และหาโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ พร้อมทั้งผลักดันการสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของกลุ่ม ปตท.

“วันนี้โลกอยู่ใยช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งสอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจให้นำนวัตกรรมมาใช้ โดย ปตท.ก็ได้มีการส่งเสริม Future Energy พลังงานอนาคต Future Mobility การขับเคลื่อน ยานยนต์แห่งอนาคต Health ผ่านธุรกิจLife Science ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีการรักษา และการป้องกันโรค AI และ Robotic โลจิสติกส์ และดีคาร์บอนและInnovation Ecosystem ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้ ปตท. เข้มแข็งแต่ยังทำให้ประเทเราพัฒนามากขึ้น นำไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักการมีรายได้ปานกลาง”

ทั้งนี้ ปตท. มีความเชี่ยวชาญ โดยมีแกนหลักคือ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ผ่านความร่วมมือทั้งจากในกลุ่ม ปตท. และจากเครือข่ายพันธมิตรชั้นนำภายนอก จนเกิดเป็นกลุ่มงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ 7 ด้านมาร่วมจัดแสดง ประกอบด้วย Future Energy, Future Mobility, Life Science, AI, Robotics & Digitalization, Logistics & Infrastructure, Decarbonization และ Innovation Ecosystem

นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของกลุ่ม ปตท. พร้อมรับทุกกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศไทยแล้ว ยังช่วยสนับสนุนให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ พร้อมจุดพลังจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยในทุกมิติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับภายในงานนี้ แบ่งพื้นที่จัดแสดง 3 ส่วน ประกอบด้วย  1. นิทรรศการแสดงผลงานทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม จาก กลุ่ม ปตท. อาทิ E-Bus รุ่นใหม่จาก ARUN PLUS, Hydrogen Refueling Station พร้อมรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง 1 ใน 2 คันของประเทศไทย, นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย Life Science จาก Innobic, Smart Farming Drone จาก Varuna, Virtual Art Exhibition ด้วยเทคโนโลยี AR / VR จาก Mekha V, โอกาสทางธุรกิจใหม่ด้านไฮโดรเจน และ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ของ ปตท., เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ของ ปตท.สผ., การสร้างการเติบโตผ่าน Flagship Venture ของ Thaioil, นวัตกรรมผ้า Melt Blown ของ IRPC, Advanced Material Solutions (3D Printing Technology) จาก GC, Wind Energy Technology จาก GPSC, นวัตกรรม Mobility Lifestyle จาก OR, นำเสนอ Digital Industrial Solution ในบทบาทของ Enabler ให้กับกลุ่ม ปตท. โดย PTT Digital และสินค้านวัตกรรมที่พร้อมให้ช้อป ชิมจากกลุ่ม ปตท.

2. Tech Talk เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด มุมมอง และเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรมที่น่าจับตาจากภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายและผู้นำด้านนวัตกรรมกว่า 38 ท่าน ใน 23 หัวข้อ อาทิ Technology Foresight to the Edge of Tomorrow, Trend in Pharmaceutical Industry, Role of Intellectual Property for Innovation Ecosystem, Hydrogen Technology, Nuclear Fusion Technology, Opportunity to Enhance the Future by Life Science ฯ

3. Pitching Desk พื้นที่นำเสนอนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. กว่า 30 แบรนด์ อาทิ ARUN PLUS, HORIZON PLUS, EVme, Swap & Go, MEKHA V, T-ECOSYS, GML, NRPT, ORZON, VARUNA, InnoSpace, MORE ฯ ที่พร้อมให้นักลงทุนและผู้สนใจได้ร่วมพูดคุย ต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงานไปด้วยกัน งานนี้ ปตท. เปิดกว้างให้พันธมิตรและร่วมงาน PTT Group Tech & Innovation Day  เข้าชมงานได้ครบทุกกิจกรรม

Source : กรุงเทพธุรกิจ