กระทรวงพลังงานยืนยัน มาตรการภาษี 0 บาท สำหรับ “ดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า” สิ้นสุด 15 ก.ย. 2566 และไม่ได้เรียกร้องให้กระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการดังกล่าวอีก เหตุปัจจุบันราคาก๊าซฯ ถูกลง สั่งโรงไฟฟ้าหันมาใช้ก๊าซฯ แทนดีเซลและน้ำมันเตาแล้ว ย้ำไม่กระทบค่าไฟฟ้าประชาชนแน่นอน   


วันที่ 15 ก.ย. 2566 เป็นวันสุดท้ายที่กรมสรรพสามิตจะงดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล B0 (น้ำมันดีเซลที่ไม่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธ์ ) และน้ำมันเตา ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดว่า ได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตรา 0 บาท  สำหรับน้ำมันดีเซล (B0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-15 ก.ย.  2566 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจเรื่องค่าไฟฟ้า ในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และ ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ในตลาดโลกยังคงผันผวน

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานไม่ได้เรียกร้องเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการภาษี 0 บาท สำหรับดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในวันที่ 15 ก.ย. 2566 ภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า คงจะกลับมาเก็บตามเดิม (ภาษีดีเซล B0 จะอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และภาษีน้ำมันเตาจะอยู่ที่ 0.64 บาทต่อลิตร)  

ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแทบจะไม่ได้ใช้ดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าแล้ว หลังจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดต่ำกว่า 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู  นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 จึงหันมาผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซฯ ตามเดิม ส่วนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาส่วนใหญ่จะใช้เพียงแค่สตาร์ทเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องขอลดภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตา ให้เหลือ 0 บาทอีก

โดยเมื่อย้อนไปตอนต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องขอให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลB0 และน้ำมันเตา สำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าพุ่งขึ้นสูงมาก และสูงกว่าเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้า ดังนั้นเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชน จึงจำเป็นต้องให้โรงไฟฟ้าหันมาใช้ดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก เฉพาะโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องน้ำมันดีเซลได้ และจำเป็นต้องขอให้กระทรวงการคลังลดภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตาให้เป็น 0 บาทด้วย

อย่างไรก็ตามหากดีเซล B0 และน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า กลับมาเก็บภาษีตามเดิม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากในปัจจุบันแทบจะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวผลิตไฟฟ้าแล้ว

Source : Energy News Center

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี​ มีกำหนดที่จะแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา​ ในวันที่​ 11-12​ กันยายน​ 2566​ นี้​ โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน​ ที่รัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการ​ คือ​ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้ง​ค่าไฟฟ้า​ ค่าน้ำมัน​ และก๊าซหุงต้ม​ ให้แก่ประชาชน ซึ่งระบุว่าจะปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที

ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดก่อนได้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยปรับลดในส่วนของค่าไฟฟ้า​ที่เป็นต้นทุนผันแปร​ หรือที่เรียกว่า​ค่าเอฟที​ โดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน​ หรือ​  กกพ.​ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ได้มีการพิจารณาให้ปรับลดลงค่าเอฟทีลงมาแล้ว​ ในงวด​ตั้งแต่​เดือนกันยายน​- ธันวาคม​ 2566​ ประมาณ​ 25​ สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้า​เฉลี่ย​โดยรวม​ลดลง จาก​ 4.70​ บาทต่อหน่วย​ เหลือ​ 4.45​ บาทต่อหน่วย​ ซึ่งหากรัฐบาลเศรษฐาจะลดค่าไฟลงทันที​ ก็หมายความว่าจะลดลงเพิ่มจากที่มติ ​กกพ. เคยได้ปรับลดไปแล้ว

และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายค่าเอฟที​ที่ประชาชนต้องจ่าย​นับตั้งแต่เ​ดือนกันยายน​ 2564​ ที่ผ่านมา​ จนถึง​ เมษายน​ 2566​ เป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง​ โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา​สั่งการให้​การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ช่วยแบกภาระส่วนต่างเอาไว้ก่อน​ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน​ ทำให้ภาระที่​ กฟผ. ต้องแบกต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชน​ นับตั้งแต่​กันยายน​ 2564​ จนถึงเมษายน​ 2566​ เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง​ รวม​ 138,485 ล้านบาท​ 

การแบกรับภาระแทนประชาชนดังกล่าว​ ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน ของ​กฟผ.​ จนต้องมีการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง​ การขอขยายระยะเวลานำเงินส่งรัฐ​ การขอขยายเวลาชำระค่าเชื้อเพลิงให้​ ปตท.

ดังนั้น ในการคำนวณค่าเอฟที​งวด​เดือนกันยายน ถึง ธันวาคม​ 2566​  กฟผ. ​จึงมีหนังสือแจ้ง กกพ.​ ว่า​ กฟผ. มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการทยอยคืนภาระที่​ กฟผ. แบกต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชนดังกล่าว และไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชนได้อีก​ เนื่องจากจะส่งผลให้มีปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก​ จึงจำเป็นต้องได้รับการทยอยจ่ายคืนเงินส่วนที่ กฟผ. เคยแบกไว้​ ตามงวดการจ่ายที่​นำเสนอ ​กกพ. เป็นเงินประมาณ​ 23,428  ล้านบาท

​นอกจากนั้น การคำนวณค่าเอฟที​โดยคาดการณ์ล่วงหน้า​ (ก.ย.-ธ.ค.2566​)​ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ตัวเลขต้นทุนเชื้อเพลิงจริงอาจจะสูงกว่า​ที่​ กกพ. ใช้คำนวณ​ เพราะมีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้า​ LNG​ ราคาแพง ​มาทดแทนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่อาจจะมีปริมาณต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด​

​ซึ่งหาก​เป็นไปตามมติ กกพ. ในการคิดค่าเอฟที​งวด​กันยายน​-ธันวาคม​ 2566​ ก็จะเหลือภาระต้นทุนจริงที่ กฟผ. ยังต้องแบกแทนประชาชน​อีก​ จำนวน​ 111,869  ล้านบาท​ โดยเงินส่วนที่ได้รับ​นี้ กฟผ. จะนำไปใช้ในการบริหารสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ การชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้​ และการจ่ายชำระค่าเชื้อเพลิงให้กับ​ ปตท.

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแนวทางพิจารณาลดค่าไฟ​ทันที​ตามนโยบาย​ของรัฐบาลเศรษฐาที่จะนำเข้าพิจารณาในการประชุม ครม. นัดแรก คือให้​ กฟผ. แบกรับภาระหนี้​ต้นทุนเชื้อเพลิงไปก่อน โดยยังไม่ต้องขอรับการทยอยจ่ายคืนตามงวดที่เคยแจ้งต่อ​ กกพ.​ ดังนั้น หากรัฐบาลยังยืนแนวทางที่จะให้​ กฟผ. แบกรับภาระ​ จนมีปัญหาขาดสภาพคล่อง​ และกระทบต่อการชำระหนี้เงินกู้​ การชำระค่าเชื้อเพลิง​ และการนำเงินกำไรส่งรัฐ​ 

ที่ผ่านมา​ ผู้บริหาร กฟผ.​ ให้สัมภา​ษณ์สื่อสารไปยังประชาชนและรัฐบาล​ ว่า​การแบกภาระต้นทุนเชื้อเพลิง​แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเอาไว้ก่อน​เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับสูงขึ้นตามต้นทุนจริงในช่วงที่ผ่านมา​นั้น เหมือนกับลาที่แบกสัมภาระอันหนักอึ้ง จนหากมีใครวางเศษฟางลงบนหลังลาอีกเพียงเส้นเดียว​ก็อาจจะทำให้ลาตัวนั้นล้มลงได้​ 

ทั้งนี้ยังไม่นับสัญญาณที่เป็นปัจจัยลบจากการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณ​ (G1/61) ที่อาจจะไม่มาตามนัด จากเป้าหมายที่ตั้งใจจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้​ 600​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน​ แต่สิ้นปี​นี้แว่วว่า​กำลังการผลิตจะทำได้เพียง​ 400​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน​ ทำให้ต้องนำเข้า​ LNG​ ที่มีราคาแพงกว่ามาทดแทน​ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น​กว่าตัวเลขที่​ กกพ.​ คาดการณ์​เอาไว้​

ดังนั้น​ การประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเศรษฐานัดแรก​ที่จะมีขึ้นหลัง​การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา​ ซึ่งจะมีวาระการลดราคาพลังงาน​รวมทั้งค่าไฟฟ้า​โดยทันที​ นั้น รัฐบาลจึงต้องมองถึงแนวทางอื่นๆ มาดำเนินการ​ เช่นการจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาช่วยเหลือ​ผลกระทบค่าไฟฟ้า​ และช่วยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง​ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้เคยดำเนินการ​ เพราะหากให้​ กฟผ. ยังต้องแบกรับภาระหนี้ที่หนักอึ้งเช่นเดิม​ กฟผ.ก็จะประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายคืนดอกเบี้ย​ และค่าเชื้อเพลิงได้ตรงตามเวล​าที่กำหนด ยกเว้นว่ากระทรวงการคลัง​มีมาตรการอื่นใดที่จะมาช่วย กฟผ. แก้ปัญหา​สภาพคล่อง​

ขอบคุณภาพจาก FB เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin 

อย่างไรก็ตาม​ กระทรวงการคลัง​ที่นายเศรษฐา​นั่งควบเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่อีกตำแหน่ง​ ต้องไม่ลืมว่า​การที่ กฟผ. ต้องกู้เงิน​เพิ่ม​ ก็คือจะเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ​ และหากสัดส่วนหนี้เงินกู้ของ​ กฟผ. สูงเกินไป​ ก็จะกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของ​ กฟผ.​ กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้​ ซึ่งในท้ายที่สุด​ ภาระทั้งหมดนี้ก็จะต้องถูกส่งผ่านไปที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ดี​   

นโยบายประชานิยมเรื่องค่าไฟ​ที่มุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนในระยะสั้น​ แต่ใช้วิธีการซ้ำเติมฐานะการเงิน​ของ กฟผ. ให้อ่อนแอ​ลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถลงทุนเพื่อคงบทบาทการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศได้​ จะกลายเป็นผลเสียที่ตกอยู่กับประชาชนผู้ไฟฟ้า​ ที่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟต่อเนื่องไปในระยะยาว​

Source : Energy News Center

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุม ครั้งที่ 34/2566 (ครั้งที่ 862) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พฤษภาคม – สิงหาคม 2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วยเหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย และให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 รายละเอียดเอกสารเผยแพร่ค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th

ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าว กกพ. ยึดหลักเกณฑ์ตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 และได้พิจารณาประโยชน์ของประเทศ รวมถึงสภาพการแข่งขันและความสามารถในการให้บริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงการให้บริการระยะยาวประกอบแล้ว

ก่อนหน้านี้​ ทางสำนักงาน​ กกพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเในแนวทางการปรับค่าไฟฟ้า​ ตั้งแต่วันที่​ 7-21​ ก.ค.2566​ ใน 3​ ทางเลือกคือ​

ทางเลือกที่​ 1​ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย เพื่อจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดให้กับ กฟผ. จำนวน 1.35 แสนล้านบาท

ทางเลือกที่​ 2​ ค่าไฟฟ้ายังคงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 จำนวน 3.8 หมื่นล้านบาทเหลือหนี้ที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 9.7 หมื่นล้านบาท

และทางเลือกที่ 3 ปรับลดค่าไฟฟ้าลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย​ (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ซึ่ง กฟผ.จะได้รับคืนหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 และมีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 1.11 แสนล้านบาท​ ซึ่งในที่สุด​ ทางเลือกที่ 3 เป็นแนวทางที่​ กกพ.อนุมัติ​ให้ความเห็นชอบ

Source : Energy News Center

บอร์ด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติคำนวณค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 แบ่งเป็น 3 กรณี ที่บวกรวมการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าให้ กฟผ.ที่แบกรับแทนประชาชนอยู่ 135,297 ล้านบาท หากชำระหนี้คืนทั้งหมดค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 6.28 บาทต่อหน่วย หรือตรึงค่าไฟฟ้าไว้เท่าเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย หรือคืนหนี้ 5 งวด ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอ​ของ​ กฟผ.​ ซึ่งทาง สำนักงาน กกพ.จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนทั้ง 3 กรณี ระหว่างวันที่ 7-21 ก.ค. 2566 ก่อนเสนอบอร์ด กกพ. เพื่อประกาศค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 อย่างเป็นทางการต่อไป  

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 มีมติเห็นชอบผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. 2566 ออกเป็น 3 กรณี พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำแนวทางการคำนวณค่า Ft และการจ่ายคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาเปิดรับฟังความเห็นประชาชนระหว่างวันที่ 7-21 ก.ค. 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th  

สำหรับการคำนวณค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ค่า Ft แท้จริงอยู่ที่ 28.58 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าจริงอยู่ที่ 4.07 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตามยังมีหนี้ค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.แบกรับแทนประชาชนตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 135,297 ล้านบาท ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องทยอยจ่ายคืนในรูปของค่า Ft ดังนั้น บอร์ด กกพ. จึงได้จัดทำแนวทางการคำนวณค่า Ft และการชำระหนี้คืน กฟผ. แบ่งเป็น 3 กรณี เพื่อเปิดรับฟังความเห็นประชาชน จากนั้น บอร์ด กกพ. จะนำมาสรุปผลเพื่อเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งต่อไป โดยทั้ง 3 กรณีจะแบ่งเป็นดังนี้

กรณีที่ 1 จ่ายคืนหนี้ กฟผ. ทั้งหมด จะทำให้ค่า Ft อยู่ที่  249.81 สตางค์ต่อหน่วย (2.50 บาทต่อหน่วย) รวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย โดยค่า Ft 2.50 บาทต่อหน่วย เกิดจากค่า Ft ที่แท้จริงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และการชำระหนี้ กฟผ.ทั้งหมด ที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 คิดเป็นเงินจำนวน 135,297 ล้านบาท  

กรณีที่ 2 ตรึงค่า Ft เท่างวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 66 โดย ค่า Ft จะอยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยค่า Ft 91.19 สตางค์ต่อหน่วยเกิดจากค่า Ft ที่แท้จริงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และการทยอยชำระหนี้ กฟผ. จำนวน 38,291 ล้านบาท (ประมาณ 3 งวด) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 ประชาชนยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท  

กรณีที่ 3 ซึ่งเป็นกรณีที่ กฟผ.เสนอจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด ซึ่งจะทำให้ค่า Ft อยู่ที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมปรับลดลงจากงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 มาอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย โดยค่า Ft 66.89 สตางค์ดังกล่าวเกิดจากค่า Ft ที่แท้จริงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และการทยอยชำระหนี้ของ กฟผ. ที่แบ่งเป็น 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 ประชาชนยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับผลการคำนวณประมาณการค่า Ft และแนวทางการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ กฟผ. นำประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้นำมาจัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้การประมาณการค่า Ft ในรอบคำนวณเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. – ส.ค. 2558 และรอบประมาณการค่า Ft เดือน พ.ค. – ส.ค. 2566  

โดยราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่ลดลงในรอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 66 ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการประมาณการค่า Ft  ในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 ถึงแม้ว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งให้ภาคไฟฟ้ามีจำนวนจำกัด  นอกจากนี้การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งการเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรปส่งผลให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย

ดังนั้นสำนักงาน กกพ. ร่วมกับ ปตท. กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์การผลิตและใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสม  ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที (Ft) สำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 7 – 21 ก.ค. 2566 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

Source: Energy News Center

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่สำหรับปั๊มชาร์จรถ EV ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายขายให้กับปั๊มชาร์จคือ 2.9162 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับทุก 4 เดือน และค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน ย้ำใช้เฉพาะปั๊มชาร์จรถ EV สาธารณะที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเท่านั้น ส่วนสถานีชาร์จรถ EV อื่นๆ ต้องใช้อัตราเดียวกับค่าไฟฟ้าบ้านซึ่งมีราคาแพงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน  

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ ปั๊มชาร์จรถ EV  ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2566 หลังจากเปิดรับฟังความเห็นประชาชนมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา  

โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขายให้กับปั๊มชาร์จรถ EV คือ  2.9162 บาทต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จำหน่ายอยู่ 2.6369 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ(บอร์ด) กกพ. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากค่าไฟฟ้า 2.9162 บาทต่อหน่วยแล้ว ยังต้องรวมกับค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ประกาศปรับทุก 4 เดือน (ปัจจุบัน Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย) หรือคิดรวมประมาณ 3.8 บาทต่อหน่วย และรวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือนด้วย

อย่างไรก็ตามอัตราดังกล่าวจะใช้เฉพาะปั๊มชาร์จรถ EV ที่เปิดจำหน่ายแบบสาธารณะ ซึ่งได้ขอใบอนุญาตจำหน่ายและเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไว้เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนการใช้รถ EV ในประเทศ  ส่วนปั๊มชาร์จรถ EV อื่นๆ จได้รับค่าไฟฟ้าตามอัตราค่าไฟฟ้าบ้านเรือน (ค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย) รวมค่าบริการรายเดือนประมาณ 24.62 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าปั๊มชาร์จ EV แน่นอน

ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าปั๊มชาร์จรถ EV ที่ 2.9162 บาทต่อหน่วย จะต้องปรับปรุงในอนาคต หากการใช้รถ EV ในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง กกพ.จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป 

สำหรับที่มาของการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปั๊มชาร์จรถ EV เกิดจาก ที่ผ่านมา กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) แบบ Low Priority ซึ่งหมายถึงการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ถูกจัดให้เป็นความสำคัญระดับรอง โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถเข้าควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้เมื่อมีข้อจำกัดของระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนทั่วไป และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศ

โดยที่ผ่านมา กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority หรือเรียกว่า “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งราคาดังกล่าวถือเป็นราคาขายปลีกไฟฟ้าให้สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อนำไปจำหน่ายปลีกในราคาที่แตกต่างกันไปของแต่ละสถานีฯ อีกที ทั้งนี้ “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วยดังกล่าว ถูกใช้มาตั้งแต่ เม.ย. 2564 จนปัจจุบันครบกำหนด 2 ปีแล้ว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่19 มี.ค. 2563 ที่กำหนดว่าให้ใช้อัตราดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีการประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ 

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กกพ.ได้มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ปี 2565-2568 แล้ว ประกอบกับ “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย ถูกใช้มาครบ 2 ปีแล้ว ดังนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงขอให้ กกพ.ทบทวน  “EV Low Priority” ใหม่ ให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟน. และ PEA ที่ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้จากการทบทวนอัตรา EV Low Priority ของคณะกรรมการ(บอร์ด) กกพ. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ได้เห็นชอบกำหนดอัตราใหม่ที่ 2.9162 บาทต่อหน่วย สำหรับทุกแรงดัน รวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน

Source : Energy News Center