ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายสินค้าจากหน้าร้าน มาเป็นแบบออนไลน์ที่ทำให้มีปริมาณการใช้วัสดุห่อหุ้มสินค้า กล่องพัสดุ รวมถึงพวกวัสดุปิดกล่องต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดขยะเป็นจำนวนมาก รวมถึงวัสดุต่างๆ ที่ใช้ตามร้านสะดวกซื้อเพื่อห่อหุ้มอาหารจำหน่าย เน้นความสะดวกให้กับผู้บริโภคมากกว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่า อาหาร 1 กล่อง สามารถสร้างขยะได้มากมายเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดขยะที่เรียกว่า “ขยะกำพร้า” ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินมากก่อน

ขยะกำพร้า คืออะไร?

ขยะกำพร้า เป็นขยะที่ถูกมองข้าม คือ ขยะที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ การรวบรวม คัดแยก ใดๆ เลย ซึ่งเป็นขยะที่ไม่มีใครเอา ไม่คุ้มกับการนำไปรีไซเคิล ถ้าเอาไปขายคนรับซื้อก็ไม่รับอีก ทำให้ขยะกำพร้ามีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ก็อธิบายง่ายๆ ด้วยการยกตัวอย่างได้ดังนี้ ถุงซองเครื่องปรุง เทปกาวติดกล่องพัสดุ ถุงใส่แกง ถุงใส่น้ำ แผงยา โฟมห่อผลไม้ เป็นต้น ก็เรียกว่าเป็นขยะที่คนไม่สนใจที่จะแยกออกมาจากขยะปกติ เวลาทิ้งก็ทิ้งรวมๆ ไปเลย เพราะมองว่ามันแค่นิดเดียว มีขนาดเล็ก แต่ถ้ารวมๆ กันปริมาณมากๆ ก็สร้างขยะได้ปริมาณมหาศาลมาก ยิ่งตอนนี้คนนิยมซื้อขายออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก วัสดุที่ใช้ก็มากตามไปด้วย และเชื่อว่าหลายคนเวลารับสินค้ามา ก็แกะกล่องเอาของออก แล้วก็โยนกล่องทิ้งลงทั้งขยะเลย ทั้งๆ ที่ ถ้าเราแยกเก็บไว้ เราก็จะได้กล่องกระดาษ เทปกาว และพลาสติกหุ้มห่อ ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในความเป็นจริงมีคนจำนวนมาก ไม่ได้ใส่ใจตรงนี้ เพราะคิดว่าเป็นแค่เศษขยะเล็กๆ ก็ทิ้งลงทั้งขยะลงไปเลย

ข้อดีของ ขยะกำพร้า

ขยะกำพร้าถ้ามีการจัดการให้ดี มีข้อดีหลายอย่างด้วยกัน

  • ขยะกำพร้าสามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้
  • ขยะกำพร้ามีค่าพลังงานความร้อนสูงกว่า 3,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำทางเชื้อเพลิงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • ขยะกำพร้าที่มีการปรับสภาพก่อนให้สะอาด แห้ง และมีการคัดแยก ปรับให้เป็นชิ้นที่มีขนาดเล็ก จะมีค่าพลังงานสูงกว่า 5,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม เทียบเท่ากับถ่านหิน
  • ขยะกำพร้ามีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถอัดเพิ่มความหนาแน่นอน ขนส่งได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
  • ขยะกำพร้าสามารถแปรรูปเป็น เชื้อเพลิงขยะมูลฝอยอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel; RDF) นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้

เส้นทางของขยะกำพร้า

ขยะกำพร้าก็มีเส้นทางที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน โดยสรุปแล้ว จะมีประมาณ 4 แหล่งด้วยกัน โดยข้อมูลนี้อ้างอิงมาจาก บริษัทที่นำขยะกำพร้ามาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

  1. ขยะจากคนทั่วไป ที่รวบรวมนำส่งเพื่อนำไปแปรรูป
  2. ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้ติดต่อเอาไว้
  3. ของเหลือใช้จากบริษัทต่างๆ ที่ส่งไป เช่น เครื่องสำอางหมดอายุ เครื่องแบบพนักงานเก่าๆ เป็นต้น
  4. ผู้รับเหมาที่ไปจัดการคัดแยกขยะที่เผาได้ มาจากบ่อขยะ

เมื่อได้รับขยะมาแล้ว ทางโรงงานหรือบริษัทแปรรูป ก็จะมีการคัดแยกขยะอีกรอบหนึ่ง เพื่อดูว่ามีขยะไหนที่เผาไม่ได้บ้าง ก็จะแยกออกไป เช่น กระเบื้องขนาดใหญ่ ก้อนหิน เมื่อคัดแยกแล้วก็จะนำขยะเข้าสู่กระบวนการบดหยาบเพื่อให้มีขนาดสม่ำเสมอ ในขั้ันตอนนี้ก็จะมีการคัดเลือกขยะอีกรอบ เพื่อดูว่ามีขยะที่ไม่สามารถใช้ได้ปะปนมาหรือไม่ ตามด้วยการนำขยะผ่านเครื่องแม่เหล็ก เพื่อแยกโลหะออก หลังจากนั้นจะเข้าสู่เครื่องคัดแยกแบบจานอีกรอบ แล้วเข้าสู่เครื่องบดละเอียดต่อไป

โครงการขยะกำพร้าสัญจร

หลายคนยังไม่ทราบว่า ได้มีการจัดโครงการขยะกำพร้าสัญจรขึ้นด้วย ซึ่งมีหน่วยงานจิตอาสาภาคเอกชน และจิตอาสา มาร่วมรับขยะกำพร้านำไปเป็นเชื้อเพลิง โดยทางเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร เข้ามาให้บริการขยะกำพร้าส่งไปยังโรงงานเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันเท่าที่ค้นหาข้อมูล พบว่ามีบริษัทที่ทำกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องหลายที่ แต่ที่มีข้อมูลเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง และชัดเจน ก็ขอแนะนำ บริษัท N15 Technology ที่มีการทำกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจร มายาวนาน และมีการเปิดเพจเพื่อเชิญชวนอย่างต่อเนื่อง ใครสนใจกิจกรรมนี้ ก็สามารถติดตามได้ที่เพจ www.facebook.com/n15technology ที่ผ่านมาจากข้อมูลในเพจ จนถึงช่วงต้นปีนี้ ทางบริษัทได้รับขยะกำพร้าทั้งหมด 38.8 ตัน ซึ่งถือว่ามากพอสมควร

และล่าสุดทาง บริษัท N15 Technology ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทางหน้าเพจว่า ได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรใหม่คือ Glean Thailand ซึ่งเป็นผู้คิดค้นตู้รับแลกขยะรีไซเคิลขึ้น ให้คนทั่วไปสามารถนำขยะรีไซเคิลไปหน่อยตามจุดต่างๆ ได้ และยังมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นชื่อ Glean (กรีน) ขึ้นมาอีกด้วย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://rebrand.ly/glean

สำหรับท่านใดที่อยากเข้าร่วมกิจกรรม ก็สามารถติดตามกิจกรรมขยะกำพร้าสัญจรได้ที่หน้าเพจของ N15 Technology ได้เลย มาร่วมช่วยกันลดขยะกันดีกว่าครับ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของพวกเราทุกคน

โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน เป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทย โดยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตามแนวทางและแผนปฏิบัติการที่กำหนด โดยให้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกในครัวเรือน เพื่อช่วยลดขยะที่ต้นทาง ลดภาระทางงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะ และยังช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก พร้อมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมรับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and verification Body :VVB) ในขั้นตอนการรับรองคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำมารับรองคาร์บอนเครดิตได้ โดยมีระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2569

โดยการคัดแยกขยะเปียกสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ และยังแปลงให้กายเป็นคาร์บอนเครดิต ราคาตันละ 260 บาท เป็นทุนกลับคืนสู่หมู่บ้านและชุมชน มีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ซื้อ ซึ่งขณะนี้โครงการถังขยะเปียกลดโรคร้อน มีการเริ่มทำที่ 4 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ ลำพูน เลย สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ และจะมีการขยายโครงการอื่นๆ ไปอีกราวๆ 22 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนขยะเปียกให้กลายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ในระดับ 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทางภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยรับรองระเบียบวิธีการวิจัย ในการบริหารจัดการ และส่งต่อให้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตออกมา

ประโยชน์ของถังขยะเปียก ลดโลกร้อน

  1. การจัดการขยะเศษอาหารลดปริมาณขยะต้นทางและทำให้เกิดสุขอนามัยที่ดี
  2. ลดการปนเปื้อนของขยะเปียกกับเศษวัสดุและของเหลือใช้อื่นๆ ทำให้สะอาดและสะดวกต่อการคัดแยก ไปจนถึงลดปริมาณขยะในชุมชน
  3. เพิ่มรายได้จากการแยกขยะที่ไม่ปนเปื้อนออกไปขายที่ธนาคารขยะ
  4. ลดภาระทางงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเก็บขนและบริหารจัดการขยะ ทำให้สามารถนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า
  5. ได้สารบำรุงดินหรือปุ๋ยหมักไว้ใช้ในครัวเรือน ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้มีพืชผักที่ปลอดภัยไว้รับประทานในครัวเรือน ลดรายจ่ายหรือสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
  6. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) สู่ชั้นบรรยากาศจากการจัดการขยะต้นทางจนลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในการจัดการปลายทางที่หลุมฝังกลบและ
  7. มีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกลับคืนสู่ท้องถิ่น

วิธีทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน

สำหรับวิธีทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนนั้น ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก เทคนิคอยู่ที่การดัดแปลงถังขยะแบบเดิม แล้วนำไปฝังดิน

  1. เตรียมถังที่เหลือใช้ที่มีฝาปิด จากนั้นให้ทำการตัดก้นถังออกไป
  2. นำถังขยะไปฝังดินที่มีความลึกประมาณ 2 ใน 3 ของถัง โดยให้ก้นถังอยู่เหนือจากก้นหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร
  3. นำเศษอาหารเทใส่ถังแล้วปิดฝา
  4. เมื่อนำเศษอาหารใส่ลงไป ควรจะกวดเศษอาหารทุกครั้งเพื่อเพิ่มอากาศภายในถัง
  5. เมื่อปริมาณเศษอาหารเต็มถัง ให้ดึงถังออก แล้วนำดินมากลบหลุมให้เรียบร้อย
  6. ดึงถังออกแล้วย้ายไปฝังยังจุดอื่นๆ แล้วทำแบบเดียวกันต่อไป

กรณีที่มีกลิ่นเหม็น อาจจะใช้น้ำหมัก EM เติมเข้าไปเพื่อลดกลิ่น และช่วยเรื่องของการย่อยสลายได้ และเมื่อใส่ขยะแล้วอย่าลืมปิดฝาให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันกลิ่มเหม็น และสัตว์มาคุ้ยเขี่ยเศษอาหารภายในถัง

ภาพจาก : องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง

ขยะที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มีอะไรบ้าง

  • ปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ
  • กระดูก เปลือก และกระดองของสัตว์
  • ผัก ผลไม้ เมล็ดผลไม้
  • เศษอาหารสด เศษเปลือกไข่
  • กากกาแฟ
  • มูลสัตว์

และขยะที่ไม่ควรนำมาแปรรูปมีดังนี้

  • กิ่งไม้ และใบไม้
  • กระดาษ
  • เศษผ้าต่างๆ
  • โลหะ
  • พลาสติก
  • เศษกระจก
  • น้ำมัน
  • ยาฆ่าเชื้อ
  • สารฟอกขาว
  • ผักที่มีความแข็ง เช่น แกนข้าวโพด เป็นต้น

ขอบคุณภาพประกอบ : เทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวน / เทศบาลตำบลทรายมูล

Dogen City หรือเมืองลอยน้ำ เป็นคอนเซ็ปต์ของสตาร์อัพจากญี่ปุ่นที่ได้ออกแบบเมืองใหม่ ที่ลอยอยู่บนน้ำ เพื่อต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นมลพิษต่างๆ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสึนามิ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับเมืองในแบบปัจจุบันเป็นอย่างมาก

เมืองลอยน้ำนี้ มีขนาดใหญ่ในระดับที่รองรับผู้อยู่อาศัยได้กว่า 10,000 คน คิดค้นโดยบริษัทสตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า N-ARK ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบให้คำปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการเผยแพร่คอนเซ็ปต์และหน้าตาของเมืองลอยน้ำผ่านเว็บไซต์ พร้อมรายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วน สามารถดูข้อมูลได้ที่ https://www.n-ark.jp/en/dogen-city

สำหรับเมืองลอยน้ำนี้ ได้มีการโปรโมทออกมาว่าเป็น A Smart healthcare city on the ocean ที่ได้รวมเอาความเป็นอัจฉริยะด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดการอาหาร สถาปัตยกรรม ข้อมูล การจัดการด้านพลังงาน โดยเน้นเรื่องของการดูแลสุขภาพแบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิดใหม่ ที่มีการบริการและจัดการทุกระบบที่เกี่ยวข้องกับเมืองด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั่นเอง

ขนาดของเมืองจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 1.58 กิโลเมตร และมีขนาดของเส้นรอบวงประมาณ 4 กิโลเมตร รองรับผู้พักอาศัยได้ราวๆ 10,000 คน โดยระบบต่างๆ ในเมืองนั้นก็จะมีฟังก์ชั่นเหมือนเมืองขนาดใหญ่ทั่วไป แต่ว่าจะถูกออกแบบให้เหมือนกับหมู่บ้านขนาดเล็กๆ สามารถผลิตกระแสไฟต่อปีได้มากถึง 22 ล้านกิโลวัตต์ รองรับการใช้น้ำได้มากถึง 2 ล้านลิตรต่อปี สามารถกำจัดขยะได้ปีละ 3,288 ตัน และมีการผลิตอาหารได้มากถึง 6,862 ตัน

ตัวเมืองจะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ มากมายอาทิเช่น โรงงานผลิตอาหาร โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ห้องทดลอง โรงเรียน สนามกีฬา ศูนย์รักษาความปลอดภัย ฮอล์ขนาดใหญ่ สุสานและสถานที่ประกอบพิธีไว้อาลัย สถานีสื่อสาร ออฟฟิศ เกาะย่อยๆ พื้นที่ขายอาหาร เครื่องดื่ม และขายสินค้า และโรงแรม ซึ่งแต่ละสถานที่ก็จะมีการแบ่งสัดส่วนกันตามความเหมาะสม

โดยภาพรวมจะมีการแบ่งเป็น 3 ส่วนที่สำคัญหลักๆ ส่วนแรกจะเป็นพื้นที่ของการอยู่อาศัย ส่วนนี้จะถูกเรียกว่า RING หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ในรูปแบบวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองนั่นเอง ส่วนนี้จะมีการออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายกับเรือ มีส่วนเว้าส่วนโค้งเพื่อเป็นส่วนป้องกันให้กับพื้นที่ด้านใน รวมถึงช่วยป้องกันสึนามีได้อีกด้วย สำหรับส่วนที่สองจะเป็นส่วนของศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ที่จะถูกออกแบบให้อยู่ในน้ำทะเลที่มีความเย็น จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยลดพลังงานที่ใช้กับศูนย์ข้อมูล อย่างเช่นส่วนของระบบช่วยทำความเย็น เพราะปกติศูนย์ข้อมูลจะมีเครื่องเซิรฟ์เวอร์ที่ทำงานอยู่และเกิดความร้อนมากมายมหาศาลนั่นเอง สำหรับศูนย์ข้อมูลนี้ก็จะเป็นส่วนที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ City OS สำหรับการบริหารเมืองนี้ ทั้งเรื่องของการดูแลเมือง รวมถึงส่วนของการบริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ เป็นต้น

ส่วนสุดท้ายก็จะเป็นพวกอาคารที่ถูกออกแบบให้สามารถลอยน้ำได้ อยู่ด้านในของเมือง ซึ่งสามารถเคลือนย้ายได้ ปรับเปลี่ยนการจัดวางได้ใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างของเมืองเลย

สำหรับส่วนที่ทางผู้คิดค้นเน้นย้ำเป็นพิเศษของเมืองนี้ก็เห็นจะเป็นส่วนของการบริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ ซึ่งจะมีทั้งการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ มีการจัดการการรักษาแบบใหม่ทั้ง การบริการด้านสุขภาพแบบทางไกล คือ คุยกับหมอผ่านทางระบบสื่อสารแทนที่จะต้องเดินทางไปหาหมอ การนำหุ่นยนต์เข้ามาให้บริการ รวมถึงการใช้โดรนเพื่อประโยชน์ทางรักษา เช่น การนำส่งยา นอกจากนี้ยังมีส่วนของการค้นคว้าวิจัย มีธนาคารดีเอ็นเอ มีส่วนของการจำลองการใช้ยารักษาโรค ในส่วนของการรักษาก็จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมด ซึ่งรวมการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดอีกด้วย ก็เรียกว่าเปลี่ยนการรักษาแบบเดิมๆ ไปเลย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของเมืองลอยน้ำ ที่ทางทีมงานได้นำมาบอกเล่าให้ทราบกัน ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะเริ่มก่อสร้างเมื่อใด มีเพียงข้อมูลที่คาดการณ์ว่าจะมีการเปิดใช้งานราวๆ ปี 2030 ใครที่สนใจก็ติดตามข้อมูลอัพเดตได้ที่เว็บไซต์ของ N-ARK ได้เลยครับ หรือถ้ามีข้อมูลอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ทางทีมงานก็จะหยิบมาเล่าให้ฟังกันในครั้งต่อไปครับ

เสวนาออนไลน์ จากร้านแกงกาดจริงใจ ตลาดจริงใจ จ.เชียงใหม่

นำโดย

  1. ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช
    ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน
  2. คุณอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล
    ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
  3. คุณศักดิ์สกุล ศุภกฤตอนันต์
    รองผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชียงใหม่
  4. รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  5. คุณเปรมชัย กุศลฤกษ์ดี
    ประธานกรรมการบริษัท เคเชอร์ เพย์เมนท์ จำกัด
  6. ดร.ดิษฐา นนทิวรวงษ์
    เลขานุการคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ด้านพลังงาน (ผู้ดำเนินรายการ)

คลิปงานเสวนาออนไลน์

ไฟล์ Presentation จากงานเสวนา

ไม่น่าเชื่อว่าการปลูกข้าวก็สามารถทำให้โลกร้อนได้เช่นกัน นั่นเป็นเพราะว่า การปลูกข้าวแบบเดิมๆ นั้น จะมีการปล่อยให้น้ำขังอยู่ในนานั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดการหมักหมมทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ดังนั้นจะมีการคิดค้นวิธีการปลูกข้าวแบบใหม่ ให้เป็น ข้าวลดโลกร้อน ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “Thai Rice NAMA (ไทยไรซ์ นามา)”

โครงการ “Thai Rice NAMA (ไทยไรซ์ นามา)” เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2566 ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากกองทุนที่ก่อตั้งโดยอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NAMA Facility) 14.9 ล้านยูโร หรือประมาณ 513 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยของไทยใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี จำนวน 100,000 ครัวเรือนให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการทำนาลดโลกร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ

ข้าวลดโลกร้อน ปลูกยังไง?

สำหรับกระบวนการปลูกข้าวลดโลกร้อนนั้น จะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวนั่นเอง โดยจะใช้เทคโนโลยี 4 ประเภท ประกอบไปด้วย การปรับหน้าดิน ลดการใช้น้ำ การใช้ปุ๋ยตามสภาวะของดิน และการจัดการฟางข้าว และตอซัง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าว ได้ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น และยังขายได้ราคาดีกว่าเดิมอีกด้วย ทั้งนี้ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้น้ำอีกด้วย ตอนนี้มาดูว่า 4 เทคโนโลยีที่ใช้มีรายละเอียดอย่างไรกันบ้างครับ

1.เทคโนโลยีปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling)

เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาทำการปรับหน้าดินของพื้นที่นาข้าว ให้มีความราบเรียบเสมอกัน โดยจะเป็นการเกลี่ยดินในแปลงนาทั้งหมด ในระดับความคลาดเคลื่อนบวกลบไม่เกิน 2 เซนติเมตรทั่วทั้งแปลง ซึ่งก็จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าเชื้อพลังสำหรับน้ำไปใช้เพื่อการสูบน้ำเข้าที่นา ลดการสุญเสียปุ๋ย และข้าวได้รับปุ๋ยสม่ำเสมอทั่้งกันทั้งแปลงนา นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดน้ำมากขึ้นราวๆ 30 – 50 % เลยทีเดียว

2.การใช้ปุ๋ยตามสภาวะของดิน

ในการวิเคราะห์ดินนั้น ชาวนาสามารถเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำส่งตรวจกับทางกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ดูคุณภาพของดินว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน และถ้าจะใช้ปุ๋ยต้องมีอัตราส่วนเท่าไหร่ ซึ่งบางท่านก็เรียกปุ๋ยประเภทนี้ว่า ปุ๋ยสั่งตัด ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับดินในแปลงนาที่มีการวิเคราะห์มาเรียบร้อยแล้ว โดยมีหลักการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง 4 ประการ ได้แก่ 1.ชนิดปุ๋ยที่ถูกต้อง (Right Kind) 2.อัตราปุ๋ยที่ถูกต้อง (Right Rate) 3.ใช้ปุ๋ยให้ถูกจังหวะเวลา (Right Time) 4.ใส่ปุ๋ยในบริเวณที่ถูกต้อง (Right Place) จะช่วยลดต้นทุนการใช้ปริมาณปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น และรักษาแร่ธาตุในดิน สร้างสมดุลของแร่ธาตุทำให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็จะช่วยให้ข้าวมีคุณภาพดีขึ้น ดินก็มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น และมีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม ลดการใช้ปุ๋ยที่ไม่จำเป็นและมากเกินไป

3.การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

เนื่องจากการทำนาแบบเก่า จะมีการขังน้ำไว้ในนา ทำให้แปลงนามีการหมักหมมทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน รวมถึงยังเป็นแหล่งเพราะโรคต่างๆ รวมถึงเพิ่มจำนวนแมลงที่เป็นศัตรูพืชอีกด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุในการใช้พวกยาฆ๋าแมลงที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนการทำนาแบบเปลี่ยนสลับแห้งก็จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ วิธีการนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร สามารถใช้การวางท่อพีวีซีไว้ใต้ดิน และเจาะรูรอบท่อ ตามคำแนะนำคือ ใช้ต่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร เจาะรูรอบๆ ท่อ และวางเป็นแถว แต่ละแถวห่างกัน 5 เซนติเมตร ซึ่งจะมีการให้น้ำแต่ต้นข้าวในระยะที่ข้าวต้องการเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยให้การแตกกอ และความสมบูรณ์ของรวงข้าวดีขึ้นกว่าเดิม และแน่นอนว่าจะช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการสูบน้ำได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมราวๆ 50%

4.การจัดการฟางข้าว และตอซัง

เป็นวิธีการหยุดเผาฟาง และตอซังข้าว รวมถึงวัสดุที่เหลือใช้ในนาข้าว เพื่อช่วยลดฝุ่นละอองและหมกควันต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเผา และยังลดการทำลายธาตุอาหารบริเวณหน้าดินอีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อม ซึ่งในการเผาแต่ละครั้งจะทำให้ธาตุอาหารอย่างฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมถูกทำลายไปด้วย และในการเผายังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และเกิดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย โดยคำแนะนำในการจัดการก็ให้ทำอัดฟางเป็นก้อน เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ จากนั้นให้ทำการไถกลบตอซังแล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนก่อนการเตรียมดิน มีแนวโน้มให้ผลผลิตข้าวสูงกว่าข้าวที่ปลูกในแปลงที่มีการเผาฟาง โดยการไถกลบตอซังแล้วปล่อยทิ้งไว้ 15 วัน ในสภาพดินแห้งถึงชื้นก่อนเตรียมดินปลูกข้าว จะสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวลงได้ในฤดูที่ 2 และฤดูต่อๆ ไป โดยข้าวให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของ ข้าวลดโลกร้อน ซึ่งความจริงแล้วทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ในช่วงนั้นก็มีข่าวเผยแพร่ออกมามากมาย แต่ก็ยังไม่มีใครรู้เรื่องราวสักเท่าไหร่นัก ทางทีมงานเลยขอเก็บเอามาฝากกันอีกครั้ง เพราะใกล้จะจบโครงการในปีนี้แล้ว เผื่อใครเห็นแล้วสนใจก็จะได้นำไปปรับใช้กับการปลูกข้าวของตัวเองได้ หรือใครเห็นว่าสามารถประยุกต์แนวทางไปใช้กับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ก็จะได้นำไปใช้กันครับ

Photo : freepik