ขยะ เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต่างหาวิธีการแก้ไขมากมาย ในสมัยก่อนวิธีการแก้ไขปัญหาขยะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการกำจัดขยะให้หมดไป ต่อมาก็เริ่มมีการคัดแยกขยะ เพื่อแบ่งประเภทขยะ และนำไปจำกัด หรือไปรีไซเคิลได้ง่ายกว่าเดิม มีต้นทุนในการจัดการที่น้อยลง และในประเทศไทยนอกจากจะใช้วิธีการเหล่านั้นแล้ว ยังมีแนวคิดในการนำขยะไปทำให้เกิดประโยชน์นอกจากการทำลายเพียงอย่างเดียว ซึ่ง “โรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่” ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งในการนำขยะไปสร้างประโยชน์โดยเป็นการนำขยะไปผลิตเป็นไฟฟ้าในโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ คิดค้นและพัฒนาโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท และในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ลดขนาดให้สามารถติดตั้งอยู่ในรถคันเดียวเพื่อสามารถเคลื่อนย้ายไปใช้ในที่ต่างๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ความเป็นมาของ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่

รงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน ในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยเริ่มแรกจะใช้เพื่อกำจัดขยะมูลฝอยในสถานที่ห่างไกลที่การขนส่งขยะไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ ต่อมาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น

โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยขยะที่จะนำมาใช้จะเป็นขยะมูลฝอยชุมชน โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่มีวิธีการทำงานเหมือนกับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั่วไป แต่มีความแตกต่างตรงที่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้สามารถนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าได้

รูปภาพจาก : matichon.co.th

ในประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ได้รับการพัฒนาโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยเริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2566 โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่แห่งแรกของประเทศไทยตั้งอยู่ที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นโดยใช้ขยะแห้งจากชุมชนในจังหวัดขอนแก่นเป็นเชื้อเพลิง สามารถกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนได้สูงสุด 24 ตัน/วัน และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 200 กิโลวัตต์/ชั่วโมง

หลักการทำงานของ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่

โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่มีวิธีการทำงานเหมือนกับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั่วไป จะมีสิ่งที่แตกต่างกันก็คือ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะแบบเคลื่อนที่จะสามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยมักจะออกแบบให้อยู่บนรถขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าสามารถเคลื่อนย้ายไปจำกัดขยะตามแหล่งต่างๆ พร้องทั้งผลิตไฟฟ้าได้ด้วย

หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ มีดังนี้

  1. คัดแยกขยะมูลฝอยชุมชนออกเป็นขยะแห้งและขยะเปียก
  2. นำขยะแห้งมาบดอัดให้เป็นก้อนเชื้อเพลิง (RDF)
  3. นำขยะ RDF เข้าสู่เตาเผา
  4. ความร้อนจากการเผาขยะ RDF จะถูกนำไปต้มน้ำในหม้อน้ำจนกลายเป็นไอน้ำเดือด
  5. ไอน้ำเดือดจะนำไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
  6. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะผลิตกระแสไฟฟ้า
รูปภาพจาก : matichon.co.th

สำหรับขยะ RDF ย่อมาจาก Refuse Derived Fuel เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากขยะมูลฝอย โดยผ่านกระบวนการคัดแยกและปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน ขยะ RDF มีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ๆ แห้ง และเผาไหม้ได้ง่าย มีความชื้นประมาณ 10-20% ค่าความร้อนประมาณ 15,000-18,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม ปัจจุบัน ขยะ RDF กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะมูลฝอยและมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้องใช้ขยะแห้งเท่านั้นในการเผา ซึ่งอาจทำให้ต้องลงทุนในการแยกขยะต้นทางมากขึ้น

ข้อดี และข้อเสียของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่

ข้อดี

  • สามารถเคลื่อนย้ายได้ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้สามารถนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าได้ สิ่งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่มีปริมาณขยะไม่สม่ำเสมอ
  • ช่วยลดปัญหาขยะล้นเมือง โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่สามารถช่วยกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะล้นเมืองและมลพิษทางอากาศ
  • ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตไฟฟ้าจากขยะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ช่วยลดมลพิษทางอากาศ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ที่ทันสมัยใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ เช่น ระบบดักจับก๊าซพิษ

ข้อเสีย

  • ต้องใช้ขยะแห้งเท่านั้นในการเผา โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ต้องใช้ขยะแห้งเท่านั้นในการเผา ซึ่งอาจทำให้ต้องลงทุนในการแยกขยะต้นทางมากขึ้น ขยะเปียก เช่น เศษอาหารและขยะอินทรีย์ ไม่สามารถนำมาเผาได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดก๊าซพิษและมลพิษทางอากาศ
  • อาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการเผาขยะ การเผาขยะเป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ไฟไหม้หรือระเบิด โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่จึงต้องมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด
  • อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว กระบวนการเผาขยะอาจทำให้เกิดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่าย ผลกระทบเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
รูปภาพจาก Green Network Thailand

สรุปแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองและมลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องพิจารณาก่อนนำไปใช้งาน

งบประมาณ และระยะเวลาการคืนทุน

งบประมาณและระยะเวลาคืนทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ขึ้นอยู่กับขนาดและเทคโนโลยีที่ใช้ โดยทั่วไปแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่มีต้นทุนประมาณ 100-200 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5-10 ปี

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่แห่งแรกของประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ผลศึกษาต้นทุนโครงการอยู่ที่ 40 ล้านบาท รายได้ต่อปี 10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินการปีละ 6 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 7.28 ปี อัตราผลตอบแทน (ไออาร์อาร์) 10.22% อายุโครงการ 20 ปี กำไร 82 ล้านบาท

ปัจจัยที่ส่งผลต่องบประมาณและระยะเวลาคืนทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ ได้แก่

  • ขนาดของโรงไฟฟ้า
  • เทคโนโลยีที่ใช้
  • คุณภาพของขยะที่ใช้
  • ต้นทุนเชื้อเพลิง
  • ต้นทุนค่าไฟฟ้า
  • รายได้จากการขายไฟฟ้า

หากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และสามารถใช้ขยะคุณภาพต่ำได้ ก็จะส่งผลให้ต้นทุนและระยะเวลาคืนทุนลดลง ในทางกลับกัน หากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่มีขนาดเล็กลง จะใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัยมากขึ้น และต้องใช้ขยะคุณภาพสูง ก็จะส่งผลให้ต้นทุนและระยะเวลาคืนทุนเพิ่มขึ้น งบประมาณและระยะเวลาคืนทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ซึ่งควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ หากมีการพัฒนาให้สามารถอยู่ในรถคันเดียวได้ และมีต้นทุนที่ต่ำลง จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยลดปัญหาขยะ และเสริมประสิทธิภาพเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถเคลื่อนย้ายไปกำจัดขยะตามแหล่งต่างๆ ที่มีปริมาณขยะล้นเกินกว่าจะกำจัดได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เปลี่ยนเมืองเดิมๆ ที่มีขยะจำนวมมาก เป็นเมืองพลังงานสะอาด ใครสนใจโครงการนี้ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานการศึกษาได้ อยากเข้าไปศึกษาข้อมูลก็ลองติดต่อสอบถามไปได้เลยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครับ

ผู้เชี่ยวชาญเผยต้นทุนติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ขนาดเล็กเพียงแค่ราว 5,000 บาทต่อแผง แต่ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากถึงเฉลี่ย 500 บาท ต่อเดือน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วยลดค่าไฟบ้าน แถมช่วยลดโลกร้อน

เมื่อต้นทุนราคาแผงโซล่าร์เซลล์ราคาถูกลงเรื่อยๆ ความนิยมในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สปริงนิวส์ ได้รับโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ซึ่งในเวลาว่าง เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนรณรงค์การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่แข็งขันที่สุดคนหนึ่งของไทย เพื่อมาดูกันว่า คนทั่วไปอย่างเราๆ จะสามารถใช้ประโยชน์จากพลังแสงอาทิตย์ที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ นี้ได้อย่างไรบ้าง

รู้จักประเภทการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์

ผศ.ดร.สมพร อธิบายว่า สำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้าน สามารถทำได้ 3 ระบบด้วยกัน ได้แก่

  1. โซลาร์เซลล์ ประเภท on grid: ซึ่งการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทนี้ ไม่จำเป็นจะต้องใช้แบตเตอรีในการสำรองไฟ เพราะเป็นระบบที่จ่ายไฟเข้ากับระบบไฟบ้าน เชื่อมกับระบบไฟฟ้าส่วนกลางของการไฟฟ้าฯ โดยตรง ซึ่งจะมีข้อดีคือเมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่พอ จะใช้ไฟบ้านเข้าช่วยได้ และหากผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกินความต้องการก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าฯ ได้
  2. โซลาร์เซลล์ ประเภท off grid: โซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะแตกต่างจากระบบ on grid คือจะเป็นระบบไฟฟ้าที่แยกต่างหากออกจากระบบไฟฟ้าส่วนกลาง มักนิยมใช้ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้าใช้ หรืออาจใช้ในเมืองก็ได้สำหรับบ้านที่ไม่ต้องการพึ่งพิงการใช้ไฟฟ้าจากระบบส่วนกลางเลย โดยระบบโซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะต้องใช้แบตเตอรีเป็นตัวสำรองไฟ เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้นำมาใช้เวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์
คุณเองก็ติดที่บ้านได้ โซล่าร์แผงเล็กช่วยประหยัดค่าพลังงานช่วยโลก

  1. โซลาร์เซลล์ ประเภท hybrid: โซลาร์เซลล์ประเภทนี้จะเป็นระบบที่มีความผสมผสานระหว่าง ระบบ on grid และระบบ off grid โดยจะมีการนำแบตเตอรีมาสำรองพลังงานเพื่อใช้ในตอนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ แต่ยังคงเป็นระบบที่เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าส่วนกลาง โดยเมื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าที่ต้องการ จะนำพลังงานที่ผลิตได้ไปเก็บไว้ในแบตเตอรีและดึงมาใช้เมื่อไฟไม่เพียงพอ เมื่อถึงกลางคืนระบบไฮบริดจะนำไฟการแบตเตอรีมาใช้ก่อน เมื่อไม่พอจึงจะนำไฟจากการไฟฟ้ามาใช้ต่อไป

ผศ.ดร.สมพร กล่าวว่า สำหรับผู้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ้านเรือนทั่วไป ควรพิจารณาถึงรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของบ้านตนเองก่อน เพื่อที่จะเลือกติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานในครัวเรือนของตนมากที่สุด เพราะแต่ละระบบล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน มีความเหมาะสมต่อรูปแบบการใช้พลังงานแตกต่างกัน

โซลาร์เซลล์แพงไหม? จะคุ้มค่าติดตั้งหรือเปล่า?

หลายๆ คน เมื่อพูดถึงการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ มักจะนึกถึงการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมากแบบของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่มักจะต้องใช้เงินลงทุนก้อนโต หลายแสนหลายล้านบาท หากแต่สำหรับบุคคลทั่วไป ที่ต้องการเฉพาะการผลิตไฟฟ้าที่บ้าน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงาน ผศ.ดร.สมพร กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงขนาดนั้น

คุณเองก็ติดที่บ้านได้ โซล่าร์แผงเล็กช่วยประหยัดค่าพลังงานช่วยโลก

โดย ผศ.ดร.สมพร อธิบายว่า สำหรับบ้านเรือนบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมากอย่างเช่นธุรกิจใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 550 วัตต์ ประมาณ 1 – 2 แผง ก็เพียงพอต่อการช่วยลดค่าใช้จ่ายบิลไฟฟ้าที่บ้านแล้ว โดยในขณะนี้ ต้นทุนราคาแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 550 วัตต์ สำหรับใช้ในบ้านเรือนมีราคาถูกลงมากแล้ว เพียงประมาณแผงละ 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับสเป็กและยี่ห้อของแผง

ในขณะที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์แผงหนึ่ง อาจช่วยประหยัดไฟได้ถึงเดือนละ 500 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้พลังงาน และหากผู้ใช้นำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้ไปหนุนเสริมกับธุรกิจที่บ้านก็จะยิ่งช่วยให้สามารถคืนทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ไวขึ้น เฉลี่ยแล้วภายใน 1 ปี

เช่นเดียวกับราคาต้นทุนแบตเตอรี ซึ่ง ผศ.ดร.สมพร เผยว่า ก็มีราคาถูกลงแล้วเช่นกัน โดยในขณะนี้ แบตเตอรีสำหรับสำรองไฟฟ้าขนาด 1 กิโลวัตต์ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 20,000 บาทต่อลูก

“หากต้องการจะประเมินรูปแบบการใช้พลังงานว่าครัวเรือนของเรามีการใช้พลังงานในรูปแบบใด ให้ลองสังเกตเลขมิเตอร์ไฟ และจดบันทึกไว้ทุกวัน ทุกๆ เช้า และ ทุกๆ เย็น เพื่อดูว่าในช่วงเวลากลางวันมีการใช้ไฟฟ้าเท่าใด และช่วงกลางคืนมีการใช้ไฟฟ้าเท่าใด จะช่วยให้สามารถรู้ได้ว่าเราควรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบใด และขนาดเท่าใด” ผศ.ดร.สมพร กล่าว

คุณเองก็ติดที่บ้านได้ โซล่าร์แผงเล็กช่วยประหยัดค่าพลังงานช่วยโลก

โซลาร์เซลล์ต้องมีการดูแลรักษายังไง?

สำหรับเรื่องการดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์ ผศ.ดร.สมพร เผยว่า การดูแลแผงมีเพียงแค่ต้องหมั่นตรวจสอบระบบไฟให้อยู่ในสภาพใช้งานดีอยู่เสมอ และหมั่นทำความสะอาดแผง เพื่อช่วยให้แผงสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ โดยในพื้นที่ที่สะอาด ห่างไกลโรงงานและฝุ่นควัน อาจจะทำความสะอาดแค่เพียงทุกๆ ครึ่งปี แต่หากบ้านอยู่ในเมือง หรือเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษฝุ่นเยอะ อาจต้องทำความสะอาดแผงบ่อยกว่านั้น

“ผมอยากให้ทุกคนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ที่บ้าน เพราะนอกจากจะช่วยเราประหยัดไฟได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอีกด้วย ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์สามารถใช้งานได้นานถึง 25 – 30 ปี เมื่อใช้จนสิ้นอายุขัยการใช้งานก็สามารถส่งไปรีไซเคิลได้ แต่สำหรับผู้ใช้ไฟบ้านธรรมดา เมื่อผ่านไป 30 ปี เราก็จะได้แค่กองใบเสร็จค่าไฟกองโต” ผศ.ดร.สมพร กล่าวทิ้งท้าย

Source : Spring News

สนค.ประเมินผลกระทบเอลนีโญ ชี้ทำผลผลิตสินค้าเกษตรหลายการการลดลงทำราคาพุ่งแต่ห่วงปริมาณไม่เพียงพอป้อนตลาดระบุปี 67 ไทยได้ประโยชน์ส่งออกข้าว ผลไม้ น้ำมันปาล์ม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า  ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่เพียงส่งผล

กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีการตั้งวอร์รูมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่อพืชเกษตร สำหรับผู้ประกอบการจะต้องติดตามข้อมูลและเตรียมการเพื่อบรรเทาผลกระทบ ตลอดจนมีการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบและรัดกุม

“ในภาพรวมเอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่หากผลกระทบด้านผลผลิตที่ลดลงมีมากกว่าผลกระทบด้านราคาที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้รายได้ลดลง”

 สำหรับในรายสินค้า เช่นสินค้าข้าวมีการคาดการณ์ว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็พอเพียงสำหรับบริโภคในประเทศและส่งออกได้ ซึ่งอินโดนีเซียมีนโยบายความมั่นคงทางอาหารต้องการสำรองข้าว ขณะที่อินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่ง รวมทั้งระงับการส่งออกข้าวทุกชนิดที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ

อีกทั้งเวียดนามมีนโยบายลดปริมาณการส่งออกข้าว โดยจะส่งออกข้าวคุณภาพสูงและไม่เน้นปริมาณ ปัจจัยเหล่านี้ น่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 อินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงกับอินเดีย อนุญาตนำเข้าข้าวจากอินเดีย 1 ล้านตัน เพื่อจัดหาข้าวในกรณีเกิดการหยุดชะงักอันเป็นผลจากเอลนีโญ ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อหาช่องทางและโอกาสทางการค้าสำหรับไทย 

สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าสุทธิ นำเข้าจากเมียนมาเกือบทั้งหมด คาดว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะลดลง แต่ก็ยังมีมากกว่าช่วงภัยแล้งปี 2562/63 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เป็นสินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น 

ดังนั้น การอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าพืชอาหารสัตว์จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย แต่ขณะเดียวกันต้องสมดุลต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ไปด้วยพร้อมกัน

“เอลนีโญ”ส่งผลลุกลามภาคอุตฯ  เหตุผลผลิตเกษตรลดลงราคาพุ่ง

“เอลนีโญ”ส่งผลลุกลามภาคอุตฯ  เหตุผลผลิตเกษตรลดลงราคาพุ่ง

สินค้ามันสำปะหลังมีการคาดการณ์ว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะเหลือ24 ล้านตันแต่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศต้องการ 40 ล้านตัน ซึ่งจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูปไทย ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกให้ได้ผลผลิตสูง และอาจส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชน้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าว

สินค้าน้ำมันปาล์มมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2566/67จะลดลงจากสภาพอากาศร้อน ฝนน้อย และทำให้ผลปาล์มมีน้ำหนักลดลง ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีนโยบายลดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นจึงน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย

สินค้าผลไม้มีการคาดการณ์ว่าทุเรียนและมังคุดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลำไย จะมีผลผลิตลดลง เนื่องจากภัยแล้งและพื้นที่ปลูกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทยยังมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทย ขยายตัว17.8%

สินค้าน้ำตาลเอลนีโญทำให้อินเดียมีผลผลิตน้ำตาลลดลง อีกทั้งรัฐบาลอินเดียมีมาตรการชะลอการส่งออกน้ำตาล ทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น

“เอลนีโญ”ส่งผลลุกลามภาคอุตฯ  เหตุผลผลิตเกษตรลดลงราคาพุ่ง

“เอลนีโญ”ส่งผลลุกลามภาคอุตฯ  เหตุผลผลิตเกษตรลดลงราคาพุ่ง

Source : กรุงเทพธุรกิจ

กระทรวงพลังงานยืนยัน มาตรการภาษี 0 บาท สำหรับ “ดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า” สิ้นสุด 15 ก.ย. 2566 และไม่ได้เรียกร้องให้กระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการดังกล่าวอีก เหตุปัจจุบันราคาก๊าซฯ ถูกลง สั่งโรงไฟฟ้าหันมาใช้ก๊าซฯ แทนดีเซลและน้ำมันเตาแล้ว ย้ำไม่กระทบค่าไฟฟ้าประชาชนแน่นอน   


วันที่ 15 ก.ย. 2566 เป็นวันสุดท้ายที่กรมสรรพสามิตจะงดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล B0 (น้ำมันดีเซลที่ไม่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธ์ ) และน้ำมันเตา ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดว่า ได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตรา 0 บาท  สำหรับน้ำมันดีเซล (B0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-15 ก.ย.  2566 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจเรื่องค่าไฟฟ้า ในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และ ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ในตลาดโลกยังคงผันผวน

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานไม่ได้เรียกร้องเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการภาษี 0 บาท สำหรับดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในวันที่ 15 ก.ย. 2566 ภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า คงจะกลับมาเก็บตามเดิม (ภาษีดีเซล B0 จะอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และภาษีน้ำมันเตาจะอยู่ที่ 0.64 บาทต่อลิตร)  

ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแทบจะไม่ได้ใช้ดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าแล้ว หลังจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดต่ำกว่า 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู  นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 จึงหันมาผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซฯ ตามเดิม ส่วนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาส่วนใหญ่จะใช้เพียงแค่สตาร์ทเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องขอลดภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตา ให้เหลือ 0 บาทอีก

โดยเมื่อย้อนไปตอนต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องขอให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลB0 และน้ำมันเตา สำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าพุ่งขึ้นสูงมาก และสูงกว่าเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้า ดังนั้นเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชน จึงจำเป็นต้องให้โรงไฟฟ้าหันมาใช้ดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก เฉพาะโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องน้ำมันดีเซลได้ และจำเป็นต้องขอให้กระทรวงการคลังลดภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตาให้เป็น 0 บาทด้วย

อย่างไรก็ตามหากดีเซล B0 และน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า กลับมาเก็บภาษีตามเดิม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากในปัจจุบันแทบจะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวผลิตไฟฟ้าแล้ว

Source : Energy News Center

อียูพร้อมช่วยไทยรับมือภาวะโลกรวน เปิดเวทีติวเข้มเอกชนไทยปรับตัวรับกติกาค้าโลกใหม่ สรรพสามิตจ่อชงรัฐบาล “เศรษฐา” เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน “พาณิชย์” ดัน BCG Model เป็นทางออกผู้ประกอบการสู้ศึกค้าโลก

ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป จัดงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางสาวซารา เรโซอาลญิ อุปทูตรักษาการคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า สหภาพยุโรปหรืออียู และไทย ต่างมีความมุ่งหมายร่วมกัน มุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์โดยทางอียูตั้งเป้าไว้ที่ปี ค.ศ. 2050

อย่างไรก็ตามประชาคมโลกมีความก้าวหน้า ในการรับมือกับภัยคุกคามสภาพอากาศ จากการที่มีการทำข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสโดยพยายามให้เพิ่มขึ้นที่ระดับเพียง1.5 องศาเซลเซียส ให้ได้ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่นานาประเทศในโลกต้องทำให้คำมั่นสัญญากลายเป็นการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

  • เสนอ 3 ข้อพันธกิจใน COP28

ก้าวต่อไปที่สำคัญของความพยายามระดับโลกในการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศคือการประชุม COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.ถึง 12 ธ.ค. 2566 ซึ่งอียูจะเดินหน้าสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับ “พันธกิจการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก” (Global Energy Transition Pledge) ซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวโยงกัน นั่นคือ

  1.  เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉลี่ย 3 เท่าระหว่างปีนี้และปี 2030
  2.  เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอัตราเฉลี่ยรายปีในช่วงทศวรรษนี้เป็นสองเท่า
  3.  ทยอยยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเชิงก่อนปีค.ศ. 2050
รับมือกติกาโลกใหม่ อียูจับมือไทยแก้ “โลกรวน” สรรพสามิตชงเก็บภาษีคาร์บอน

ทั้งนี้ อียูมีนโยบายที่เรียกว่า European Green Deal ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของข้อตกลงปารีสถือเป็นพันธกิจที่มีความผูกพันตามกฎหมาย เกิดจากกฎหมายสภาพอากาศยุโรป หรือ European Climate Law ประกอบด้วยแผนดำเนินการต่าง ๆ 50 มาตรการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2021 ภายใต้กฎหมายดังกล่าว มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 55% (เมื่อเทียบกับปี 1990) ภายในปี 2030 และพร้อม ๆ กับกฎหมายดังกล่าว มีการนำเสนอแพ็คเกจที่เรียกว่า Fit for 55 ที่มีความริเริ่มต่าง ๆ มากมายที่จะชักจูงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

อุปทูตอียูอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ นโยบายของอียูจะสร้างกลยุทธ์การเติบโตใหม่ ๆ ควบคู่กันไป มีแผนการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานสะอาด (green transition)ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วยวิธีการต่างๆ

ความสำเร็จของ EU Emission Trading Scheme (ETS) ซึ่งเป็นระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่งและทำให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการลดปล่อยก๊าซโลกร้อนนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้กลไกที่คุ้มค่ากับการลงทุน

  • เร่งหารือลดผลกระทบ

อีกทั้ง เดินหน้าต่อยอดกลไกนี้ให้เติบโตต่อไป ด้วยการขยายขอบเขตครอบคลุมธุรกิจใหม่ อาทิ การขนส่งทางเรือ และด้วยการให้ความสำคัญกับธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุด ขณะเดียวกันอียูก็ได้นำมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM มาใช้ หรือที่เรียกว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนกำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เป้าหมายเพื่อบริหารจัดการการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสินค้าในประเทศที่สามที่ส่งออกมายังตลาดในอียูด้วยการสร้างความเท่าเทียมต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในอียูที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอกอียูผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของอียูลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง CBAM ในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยสามารถปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับกฎเกณฑ์ใหม่ของอียู เช่นเรียนรู้วิธีการคำนวณ และการแจ้งสำแดงรายละเอียด ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้จะเป็นการเริ่มต้นช่วงแห่งการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึงสิ้นปี 2568

“ปัจจุบันถือว่าสินค้าที่อยู่ในกลุ่มที่ครอบคลุมโดยกฎเกณฑ์ CBAM อาทิ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เป็นสินค้าที่ไทยไม่ได้มีการส่งออกไปยังอียูมากนัก ดังนั้นผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการบังคับใช้ CBAM จึงถือว่าน้อยมาก”

  • สรรพสามิตชงเก็บภาษีคาร์บอน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ประเทศไทยประกาศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนจะเป็นศูนย์ หรือ NET ZERO ในปี 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยลงนามพันธสัญญาระหว่างประเทศไว้ อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่เป้าหมายจะต้องมีเครื่องมือ โดยโอกาสและความท้าทายของธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวด้วย เพราะธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวเข้าสู่ NET ZERO แม้ไม่ปรับตัว โลก และกติกาโลกก็จะบีบบังคับให้ปรับตัวเช่นเดียวกัน

ในยุโรปเห็นได้ชัด มีการบังคับธุรกิจ มีการกำหนดปริมาณคาร์บอนของแต่ละธุรกิจที่จะสามารถปล่อยออกมาได้ หากทำไม่ได้ ต้องไปหาซื้อคาร์บอนในตลาด หรือ Emission Trading Scheme (ETS) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์ และหากใครปล่อยคาร์บอนตํ่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถนำคาร์บอนไปขายได้

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการระบุเลยว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนเท่าใด ขณะนี้ในยุโรปใช้ไปแล้ว ส่วนในอาเซียน มีประเทศสิงคโปร์ที่มีผลบังคับใช้ มีการกำหนดว่า 1 ตันคาร์บอน จะเก็บภาษี 5-10 เหรียญสิงคโปร์ และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรม ฉะนั้น ราคาหรือภาษีจึงถูกกำหนดโดยรัฐบาล

ทั้งนี้ ในหลักการของยุโรปนั้น เมื่อบังคับใช้ข้อจำกัดการปล่อยคาร์บอนกับคนในประเทศแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ และส่งสินค้าเข้ามาที่ยุโรป จึงได้ออกเกณฑ์การเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ไฟฟ้า ปุ๋ย ซีเมนต์ อลูมิเนียม เหล็ก ไฮโดรเจน และเหล็กที่มาจากต้นนํ้าและปลายนํ้า พร้อมกันนี้สหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะทำกฎหมายในลักษณะเดียวกัน ผู้ที่ส่งสินค้าไปอเมริกาก็จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน ฉะนั้น ธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

“สินค้าที่ยุโรปเริ่มเก็บ 7 ประเภทแรก ธุรกิจไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบเยอะ แต่ในอนาคตจะมีการขยายรายการสินค้าออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์โลก”

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า การรับมือดังกล่าว กรมสรรพสามิตก็ได้ปรับบทบาทตัวเอง ไม่ใช่กรมที่เก็บภาษีเฉพาะเหล้า บุหรี่ แต่จะมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาธิบาล อะไรที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางกรมจะลดภาษีให้ ส่วนอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะเก็บภาษีมากขึ้น

ยกตัวอย่าง รถยนต์ที่ใช้ ในประเทศไทย ปล่อยคาร์บอน 400 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันการปล่อยก๊าซคาร์บอนสัดส่วน 70% มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ภาษีสรรพสามิตเก็บทั้งขนส่งและพลังงาน แต่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษี เพื่อให้เชื่อมโยงกับคาร์บอน ขณะนี้เราเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย จากสมัยก่อนเก็บภาษีรถยนต์ตามขนาดกระบอกสูบ ซึ่งกรมได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม

  • คิดภาษีพลังงานตามการปล่อย CO2

นอกจากนี้ สิ่งที่กรมสรรพสามิตจะทำต่อมา คือ พลังงาน โดยทุกวันนี้ยังเป็นดีเซล ไบโอดีเซล และอื่น ๆ อยู่ ซึ่งใครที่ใส่ไบโอ เอทานอลเข้าไป จะลดภาษีให้ แต่อนาคตจะคิดภาษีพลังงานตามอัตราการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกรมได้เตรียมนำเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา จะทำรูปแบบเช่นเดียวกันกับรถยนต์ ซึ่งเปลี่ยนจากกระบอกสูบ ไปผูกกับการปล่อยคาร์บอน

ทั้งนี้ เพื่อรองรับหากยุโรปและอเมริกาเริ่มเก็บภาษีที่พรมแดนเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้กรมกำลังคุยกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำโครงสร้างภาษีที่ต่างประเทศยอมให้มีการหักลดหย่อนได้ หากส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา เป็นต้น

“ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราจะโดนเก็บภาษีเมื่อส่งออกไปยังยุโรป หรืออเมริกาอยู่ดี ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่กติกาโลกจะบีบบังคับให้เราทำ ดังนั้นในภาคธุรกิจสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม วันนี้ไม่ใช่แค่โอกาส และความท้าทาย เราต้องเตรียมพร้อมปรับตัว ธุรกิจเองก็ต้องเริ่มมีการวัดการปล่อยคาร์บอน เพราะท้ายที่สุดอีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องใช้มาตรฐานของยุโรปเท่านั้น”

  • พาณิชย์ หนุนขับเคลื่อน BCG

นายพรวิช  ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกในบริบทของ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ถือเป็นความท้าทายดังนั้นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก BCG Eco nomic Model จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของไทย

ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักของการส่งออกสินค้าไทย สัดส่วนเกือบ 60% ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวันซึ่งเป็นท็อปเท็นของตลาดส่งออกสินค้าไทย มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดถึงเข้มงวดที่สุด รวมถึงทั่วโลกมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และจะมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในเร็ววัน ทั้งนี้เพื่อส่งผ่าน Sustainability หรือความยั่งยืน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่ประชาชนของตน

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความท้าทาย และมีนัยสำคัญต่อการส่งออกของไทย และมีนัยสำคัญต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยแน่นอน ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยหากมีการปรับตัวในการผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

 “สิ่งที่เราทำแล้วและเราก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นโอกาส เราเห็นตัวอย่างที่ดี ๆ มากมายและได้เห็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยและของสังคมไทยโดยรวมมากมาย เราเปลี่ยนโลกได้ถ้าเรามองโลกเป็นโอกาส ไม่ว่ามาตรการของประเทศคู่ค้าจะออกมาในรูปแบบของมาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็น CBAM หรือเป็นมาตรการที่สมัครใจก็ตาม ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองของเราได้ นี่คือโอกาสโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบหลาย ๆ อย่าง”

นายพรวิช กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เห็นถึงโอกาสดังกล่าว ที่มาควบคู่กับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเทรนด์เรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืนที่เป็นเชิงบังคับของกระแสโลก ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ปรับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจโดยใช้ BCG Economy Model มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสที่ในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ และขยายตลาดส่งออกไปในตลาดสำคัญ ๆ ที่เป็นตลาดหลัก ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอื่น ๆ ที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมหาศาล

รวมทั้งในช่วงต่อไปจะผลักไปอีกระดับหนึ่งเพื่อให้สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ มีความตระหนักถึงการต้องยกระดับไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าแต่ละบริษัทปล่อยคาร์บอนไปเท่าไรในการผลิตของเขา รวมถึงรับมือกับภาษีคาร์บอนของประเทศคู่ค้าที่จะมีความเข้มงวดขึ้น และครอบคลุมกับสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นนอกเหนือจากสินค้าอุตสาหกรรม

สรุปทางกรมฯจะเน้นใน 3 เรื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้แก่ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เรื่อง BCG และเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงสินค้าอาหารอนาคต(Future Food) ที่เป็นเนื้อเทียม มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนตํ่าเมื่อเทียบกับสินค้าเนื้อสัตว์ ถือเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่กำลังมาแรง ซึ่งจะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ใช้โอกาสนี้ในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Source : ฐานเศรษฐกิจ